ยืนยันผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 200 ราย หลังจากที่เฮอริเคน 'เฮลีน' สร้างเส้นทางแห่งการทำลายล้างไปทั่วหลายรัฐ ในฐานะพายุรุนแรงอันดับสองที่พัดถล่มแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ
รถยนต์หลายคันจมอยู่ในโคลนบนถนนที่ถูกพายุเฮอริเคน 'เฮลีน' พัดถล่มในเมืองสวอนนาโนอา รัฐนอร์ทแคโรไลนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทางการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 200 รายในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา (Photo by Ulysse BELLIER / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเป็นวันที่สองติดต่อกัน เพื่อแสดงความอาลัยต่อประชาชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่พลิกผันชีวิตของผู้คนนับล้าน
พายุเฮอริเคน 'เฮลีน' ที่พัดถล่มตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เมืองต่างๆ ถูกน้ำท่วม, ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้, ไฟฟ้าและน้ำประปาขัดข้อง รวมทั้งสร้างความโกลาหลให้หลายชุมชน
การรวบรวมตัวเลขอย่างเป็นทางการของเอเอฟพียืนยันว่า มีผู้เสียชีวิต 212 รายในรัฐนอร์ทและเซาท์แคโรไลนา, จอร์เจีย, ฟลอริดา, เทนเนสซี และเวอร์จิเนีย
เฮลีนเป็นพายุเฮอริเคนรุนแรงที่สุดที่พัดถล่มแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่พายุ 'แคทรีนา' เมื่อปี 2548 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 1,392 ราย
แม้จะมีการกู้ภัยหลายร้อยครั้งใน 6 รัฐ และมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ครั้งใหญ่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางหลายพันนาย พร้อมทหารหน่วยป้องกันชาติและทหารประจำการที่ให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจากพายุลูกนี้จะเพิ่มขึ้นอีก
ประชาชนจำนวนมากยังคงสูญหายในพื้นที่ภูเขาที่ขึ้นชื่อว่ามีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่เพียงลำพัง
เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างสิ้นหวังในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่ตัวเมือง, ร้านอาหาร และกลุ่มช่วยเหลือต่างๆ จัดหาอาหารและน้ำฟรี ด้านทีมงานซ่อมแซมก็กำลังดิ้นรนเต็มที่เพื่อคืนพลังงานให้กับลูกค้าหลายแสนรายที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
ไบเดนเดินทางไปที่ชายฝั่งอ่าวทางตอนเหนือของรัฐฟลอริดาในวันพฤหัสบดี ซึ่งเฮลีนพัดเข้าฝั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในฐานะพายุเฮอริเคนรุนแรงระดับ 4 ด้วยความเร็วลม 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เขาเดินทางสำรวจความเสียหายจากทางอากาศ จากนั้นเดินผ่านบ้านเรือนที่พังยับเยินเป็นแถวในคีตันบีช ใกล้กับจุดที่พายุพัดขึ้นฝั่ง และให้คำมั่นในเวลาต่อมาว่ารัฐบาลกลางจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการช่วยให้ชุมชนฟื้นตัว
นักวิจัยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีผลต่อความรุนแรงของพายุ โดยเฮลีนได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นเป็นประวัติการณ์ในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มพลังให้กับพายุลูกนี้.