5 ความท้าทายที่ชิเงรุ อิชิบะต้องเผชิญ ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นกล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม (Photo by Yuichi YAMAZAKI / POOL / AFP)

ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐสภา จะต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 5 ประการในการดำรงตำแหน่งต่อจากนี้

- ภัยคุกคามด้านความปลอดภัย -

มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังทหารของจีนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เครื่องบินทหารจีนได้ยืนยันการบุกรุกน่านฟ้าของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม

เหตุการณ์อื่นอีกหลายกรณีได้ทำให้ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นและจีนเสื่อมลงตั้งแต่นั้นมา รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่นักเรียนชายชาวญี่ปุ่นถูกแทงเสียชีวิตในเมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีน

อิชิบะซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคง ต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านการป้องกันของญี่ปุ่น และเสนอแนวคิดการจัดตั้ง "นาโตแห่งเอเชีย" เพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ เขาอาจต้องมองหาพันธมิตรที่เท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นเช่นกัน เพื่อเพิ่มทางเลือก เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในเอเชียกำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นตัวถ่วงต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรนอกภูมิภาค รวมทั้งความไม่แน่นอนด้านนโยบายความมั่นคงระดับประเทศในกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถกลับสู่ทำเนียบขาวได้อีกครั้ง

- เรื่องอื้อฉาวของพรรคการเมือง -

อดีตนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ มีคะแนนนิยมต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการระดมทุนของพรรคการเมืองและความเชื่อมโยงของสมาชิกรัฐสภากับคริสตจักรแห่งความสามัคคี

อิชิบะซึ่งตั้งใจจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 27 ตุลาคม ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) กลับมาเป็นพรรคที่ยุติธรรมและเป็นธรรมให้ได้ดังเดิม

ท่าทีของอิชิบะในการวิพากษ์วิจารณ์การตอบสนองของพรรคฯต่อเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการระดมทุนทางการเมือง ถือเป็นการสะท้อนอารมณ์ของประชาชนได้เป็นอย่างดี และจะช่วยสร้างความเชื่อถือต่อตัวผู้นำได้อีกครั้ง

แต่การเลือกตั้งทั่วไปอาจเป็นดาบสองคมที่ช่วยฟอกตัวให้กับนักการเมืองผู้มีมลทินได้กลับสู่สภาอีกรอบก็เป็นได้ ซึ่งต้องจับตามองต่อไป

- เศรษฐกิจที่ซบเซา -

การบริโภคที่ซบเซาและภาวะเงินเฟ้อในการจ้างงานถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในญี่ปุ่นมาช้านาน

อิชิบะสนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นค่อยๆ เลิกใช้นโยบายผ่อนปรนสุดโต่ง ซึ่งเป็นจุดยืนที่ทำให้ค่าเงินเยนพุ่งสูงขึ้นหลังจากที่เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งส่งผลให้หุ้นญี่ปุ่นร่วงลงทันทีหลังจากนั้น

ชัยชนะของเขาหมายถึงแรงกดดันที่น้อยลงต่อการใช้จ่ายจำนวนมากที่กู้เงินมา หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นกลับมาผ่อนปรนทางการเงินอีกครั้ง ซึ่งเป็นนโยบายที่สนับสนุนโดยอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อกว่าทศวรรษก่อน

เพื่อช่วยให้แผนปัจจุบันของรัฐบาลในการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี ภายในปี 2570 อิชิบะจึงเตรียมเสนอนโยบายเพิ่มภาษีนิติบุคคล

- ประชากรสูงอายุ -

ข้อมูลล่าสุดระบุว่าญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก รองจากโมนาโกซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ และมีประชากรที่อายุ 100 ปีขึ้นไปในจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ที่มากกว่า 95,000 คน

อิชิบะตั้งเป้าที่จะแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำของญี่ปุ่นผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และขยายแนวทางการสนับสนุนให้คนที่ต้องการมีลูกแต่กังวลด้านปัญหาทางการเงินและสภาพเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เขายังต้องการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทซึ่งกลายเป็นเพียงแค่ชุมชนผู้สูงอายุที่โดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการรักษาความปลอดภัยและการป้องกันภัยพิบัติ

- นโยบายด้านสภาพอากาศ -

ญี่ปุ่นตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 และอิชิบะต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรควบคู่ไปกับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนหลังจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในปี 2554

สถาบันวิจัย E3G จัดอันดับญี่ปุ่นให้อยู่อันดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศ G7 ในด้านความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดในกลุ่ม

หากญี่ปุ่นต้องการไปสู่เป้าหมายด้านสภาพอากาศ รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นกลยุทธ์ในการลดการปล่อยคาร์บอนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ

และหากบริษัทญี่ปุ่นไม่ทำเช่นนั้น พวกเขาอาจพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งระดับโลก เนื่องจากสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงอาจถูกลงโทษด้วยมาตรการภาษีและอากรศุลกากร.

เพิ่มเพื่อน