ทรูโดรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่อาจหลุดตำแหน่งผู้นำแคนาดาได้ทุกเมื่อ

จัสติน ทรูโดรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นด่านทดสอบสำคัญครั้งแรกของรัฐบาลเสรีนิยมเสียงข้างน้อยที่เริ่มเสื่อมความนิยมหลังจากบริหารรัฐบาลแคนาดามาเป็นเวลา 9 ปี

นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา (Photo by ANDREJ IVANOV / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดารอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจในวันพุธ ในขณะที่รัฐบาลเสรีนิยมเสียงข้างน้อยของเขาเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นหลัง 9 ปีของการบริหารประเทศที่หลายฝ่ายต้องการความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ทรูโดเตรียมเผชิญกับความท้าทายระลอกใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพราะพรรคฝ่ายค้านอนุรักษนิยมให้คำมั่นว่าจะพยายามโค่นล้มรัฐบาลอีกครั้งโดยเร็วที่สุด

หลังจากการอภิปรายซึ่งสมาชิกรัฐสภาได้โจมตีกันอย่างดุเดือดถึงขั้นทุบโต๊ะประชุม พวกเขาได้ลงมติ 211 ต่อ 120 เสียงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคอนุรักษนิยมที่ต้องการโค่นล้มพรรคเสรีนิยม

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุดพบว่า ปิแอร์ ปัวลิเวียร์ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนนำโด่ง ดังนั้นเขาจึงกระหายให้เกิดการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด หลังการแตกหักของพรรคประชาธิปไตยใหม่ (NDP) ที่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับพรรคเสรีนิยมเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้รัฐบาลของทรูโดถูกลอยแพ และเสี่ยงต่อการถูกโค่นล้มเพราะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ปัวลิเวียร์แสดงความไม่พอใจต่อผลงานของทรูโดที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง, วิกฤตที่อยู่อาศัย และปัญหาอาชญากรรมเรื้อรัง เช่นเดียวกับการทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นสองเท่า

แต่พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ กลายเป็นผู้ช่วยชีวิตทรูโดและรัฐบาลของเขาไว้ได้ หลังไม่ยอมตามเกมโค่นล้มของฝ่ายขวาอนุรักษนิยมด้วยการยกมือไว้วางใจให้ทรูโดได้นำรัฐบาลฝ่าปัญหาต่อไปได้

ปัวลิเวียร์ให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมแพ้ และเตรียมการโค่นล้มรัฐบาลอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หากไม่สำเร็จ เขาก็ยังมีโอกาสอีกหลายครั้งก่อนสิ้นปี

ในระบบรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ของแคนาดา พรรครัฐบาลจะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาสามัญชน (สภาล่าง) ซึ่งหมายถึงการได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่

ปัจจุบัน พรรคเสรีนิยมของทรูโดมีที่นั่งทั้งหมด 153 ที่นั่งในรัฐสภา, พรรคอนุรักษนิยมมี 119 ที่นั่ง, พรรคบล็อกเกเบกัวส์ มี 33 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปไตยใหม่มี 25 ที่นั่ง

ทรูโดขึ้นสู่อำนาจในปี 2558 และสามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ด้วยการชนะการเลือกตั้งปี 2562 และ 2564

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขาต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง รวมถึงการแพ้การเลือกตั้งซ่อมในฐานที่มั่น 2 แห่งของพรรคฯ

ระหว่างการปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ "Late Show with Stephen Colbert" ในนิวยอร์กเมื่อเย็นวันจันทร์ ทรูโดยอมรับว่าชาวแคนาดากำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจริงๆ

"ผู้คนกำลังได้รับผลกระทบและประสบปัญหาในการจ่ายค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน, เติมน้ำมัน และกำลังมองหาการเปลี่ยนแปลง" ทรูโดกล่าว

การจับมือทำข้อตกลงกับพรรคประชาธิปไตยใหม่สามารถค้ำจุนพรรคเสรีนิยมให้บริหารรัฐบาลต่อไปได้จนถึงปลายปี 2568 ก่อนการเลือกตั้งใหม่

แต่พรรคประชาธิปไตยใหม่มองเห็นว่าการจัดแนวร่วมกับพรรคเสรีนิยมทำให้ความนิยมของตนเองลดลง จึงได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงกลางคัน

ปิแอร์ ปัวลิเวียร์เป็นนักการเมืองสายประชานิยมที่เชี่ยวชาญในการใช้คำพูดปลุกใจและเป็นผู้สนับสนุนการอภิปรายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จนได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลจากผลสำรวจฯเปิดเผยว่า พรรคอนุรักษนิยมมีคะแนนนำพรรคเสรีนิยมอยู่หลายช่วงตัว โดยมีผู้ประสงค์จะลงคะแนนเสียงให้กว่า 43% เทียบกับพรรครัฐบาลปัจจุบันที่จะมีคนลงคะแนนให้เพียง 21% ส่วนพรรคประชาธิปไตยใหม่จะได้ไป 19%

แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งใหม่จะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2568 เนื่องจากมีกฎหมายที่รอการพิจารณาในสภาอีกมากซึ่งมีความสำคัญระดับชาติ และแคนาดาเองก็แทบจะไม่เคยจัดการเลือกตั้งในช่วงฤดูหนาวที่โหดร้ายเลย แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ และอาจเกิดขึ้นก่อนคริสต์มาส เพราะรัฐบาลของทรูโดจะพบว่าการบริหารประเทศเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย เย้ยฝ่ายค้าน ซักฟอกรัฐบาลอิ๊งค์ ต้องมีข้อมูลไม่ใช่แค่พิธีกรรมทำตามฤดูกาล

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีพรรคประชาชน (ปชน.) ขู่เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วาง

เริ่มจะเดือด! 'เท้ง' เผยต้นปีหน้าฝ่ายค้าน จับ 'มาดามแพ' ขึ้นเขียง เปิดเวทีซักฟอกรัฐบาล

ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนรา

ชมสด 'ซักฟอกเซลล์แมน' อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ มาตรา 152

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ โดยเรื่องด่วน คือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราช