อดีตรัฐมนตรีสิงคโปร์รับสารภาพในคดีทุจริตคอร์รัปชัน

อดีตรัฐมนตรีสิงคโปร์รับสารภาพในข้อกล่าวหารับสินบน ในการพิจารณาคดีทุจริตคอร์รัปชันของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสุจริต

เอส. อิสวารัน อดีตรัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ เดินทางมาถึงศาลสูงในสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน เพื่อเริ่มต้นการพิจารณาคดีทุจริตทางการเมืองครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษ (Photo by Roslan RAHMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2567 กล่าวว่า เอส. อิสวารัน อดีตรัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลักดันให้การแข่งขันฟอร์มูล่าวันเข้ามาสู่ศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้ ถูกตั้งข้อหาคดีอาญา 35 กระทงเมื่อต้นปี ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก

ล่าสุด อิสวารันยอมรับสารภาพในข้อหารับสินบน หลังจากข้อกล่าวหาที่รุนแรงกว่านี้ถูกยกเลิกโดยอัยการที่ยื่นฟ้องใหม่ด้วยข้อหาที่เบากว่า 5 กระทง คือ ข้อหาขัดขวางกระบวนการการยุติธรรม และข้อหา 4 กระทงเกี่ยวกับการรับของขวัญจากนักธุรกิจ 2 รายในขณะดำรงตำแหน่ง ทำให้การพิจารณาคดีของศาลสูงต้องเลื่อนออกไปก่อน

อิสวารัน วัย 62 ปี รับสารภาพทั้ง 5 ข้อหา และการพิจารณาลงโทษข้อกล่าวหาที่เหลืออีก 30 กระทงจะเกิดขึ้นในภายหลัง ตามรายงานของสำนักข่าว CNA และเว็บไซต์ข่าว The Straits Times

"ผมรับสารภาพ" อิสวารันกล่าว หลังจากข้อหาทุจริตที่ร้ายแรงกว่าถูกยกเลิกในวันแรกของการพิจารณาคดี

อัยการขอให้จำคุก 6-7 เดือนสำหรับข้อกล่าวหาเหล่านี้ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยขอให้จำคุกไม่เกิน 8 สัปดาห์

ผู้สังเกตการณ์มองว่าการขึ้นศาลคดีทุจริตคอร์รัปชันของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งนี้เป็นการพิจารณาคดีที่มีความสำคัญทางการเมืองมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ในรอบกว่า 4 ทศวรรษ และยังเสี่ยงต่อความเสียหายของชื่อเสียงพรรคกิจประชาชน (People's Action Party - PAP) ที่กำลังครองอำนาจรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

อิสวารันเดินทางมาถึงด้วยรถยนต์สีขาว และปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวด้านนอกศาล โดยกล่าวเพียงคำทักทายทั่วไปเท่านั้น

หลังจากได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการถึงข้อกล่าวหาต่างๆ รวมถึงการรับของขวัญมูลค่ากว่า 300,000 เหรียญสหรัฐ อิสวารันได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนมกราคม และยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อล้างมลทินให้กับตัวเอง

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า อิสวารันได้จ่ายเงินคืนให้กับรัฐบาลเป็นจำนวนประมาณ 295,000 เหรียญสหรัฐ และส่งมอบของขวัญต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่

หนึ่งในข้อหาที่เขายอมรับคือ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม จากกรณีที่ใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงไม่ให้ทางการสิงคโปร์สอบสวนการเดินทางด้วยเที่ยวบินชั้นธุรกิจของเขาที่ได้รับการสนับสนุนจากออง เบ็ง เส็ง นักธุรกิจใหญ่ชาวมาเลเซียซึ่งเป็นคนรวยที่สุดคนหนึ่งของสิงคโปร์

ข้อหาอีก 4 กระทงเกี่ยวข้องกับการที่เขาได้รับของขวัญจากนักธุรกิจคนดังกล่าวซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของ Hotel Properties Limited และนักธุรกิจอีกคนที่เป็นผู้อำนวยการระดับสูงของบริษัทก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจทั้งสองคนจะไม่ต้องรับการลงโทษใดๆ

หากศาลพิพากษาแล้วว่าอิสวารันมีความผิดจริง เขาอาจโดนลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีและโทษปรับ ในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และโทษจำคุกสูงสุด 2 ปีและโทษ ในข้อหารับสินบน

ข้อหาส่วนใหญ่ที่อิสวารันถูกฟ้องเป็นกฎหมายอาญาที่ไม่ค่อยมีการบังคับใช้ ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความผิด หากรับสิ่งของมีค่าจากบุคคลที่ร่วมงานกันอย่างเป็นทางการ

ทนายความของอิสวารันอ้างว่า นักธุรกิจเป็นเพื่อนสนิทของเขา และเขาสามารถรับของขวัญในฐานะส่วนตัวได้

ลี เซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวเมื่อครั้งที่อิสวารันลาออกว่า ตั้งแต่ถูกจับกุม เขาได้ให้คำมั่นว่าจะชดใช้เงินที่ได้รับมา ด้วยเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของตนเอง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีได้รับเงินเดือนเทียบเท่ากับผู้มีรายได้สูงสุดในภาคเอกชน เพื่อป้องกันการทุจริต

ลีเคยยอมรับว่าพรรคกิจประชาชนของเขาที่ครองอำนาจมายาวนาน ได้รับผลกระทบไม่น้อยหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองหลายครั้ง

โดยเมื่อปีที่แล้ว สมาชิกรัฐสภาพรรคกิจประชาชน 2 คนลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีประเด็นชู้สาว และก่อนหน้านั้น สมาชิกคณะรัฐมนตรีคนสำคัญ 2 คนถูกสอบสวนในข้อกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์จากการเช่าบังกะโลขนาดใหญ่ในยุคอาณานิคม แต่ในเวลาต่อมาทั้งสองคนได้รับการตัดสินให้พ้นผิด

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อจากลี เซียนลุงกล่าวว่า จุดยืนต่อต้านการทุจริตของพรรคกิจประชาชนนั้น "ไม่สามารถละเมิดได้"

รัฐบาลสิงคโปร์กล่าวว่าจะทบทวนเงื่อนไขของข้อตกลงการแข่งขันฟอร์มูล่าวันกรังด์ปรีซ์หลังจากอิสวารันลาออก โดยการแข่งขันในปีนี้ที่สิงคโปร์เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนสุดท้ายของสิงคโปร์ที่ถูกพิจารณาคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชันคือ วี ตูน บูน อดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2518 โดยครั้งนั้นเขาถูกกล่าวหาว่ารับสินบนมูลค่ากว่า 600,000 ดอลลาร์ ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพไท' ยกย่อง นายกฯสิงคโปร์ ชี้นักการเมืองไทยต้องดูตัวอย่าง

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท- คุยการเมือง" โพสต์คลิปวีดีโอ โดยระบุว่า นักการเมืองไทย ต้องดูเป็นตัวอย่าง

นายกฯ ไทยหารือทวิภาคีนายกฯสิงคโปร์

'นายกฯอิ๊งค์' หารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรก จับมือส่งเสริมธุรกิจอาหาร-การท่องเที่ยว พร้อมรับผู้นำสิงคโปร์เยือนไทยอย่างสมเกียรติในปีหน้า

'ดร.เอ้' ยก 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' แนะ ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์ เร่งทำ 4 เรื่อง

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์" มีเนื้อหาดังนี้

นักวิชาการ ยกเคส 'Taylor Swift' จี้รัฐบาลใช้สมองขจัดจุดอ่อนการท่องเที่ยว ให้ยั่งยืน

'อ.หริรักษ์' ยกรณีสิงคโปร์ใช้เงินจัดคอนเสิร์ต Taylor Swift แนะรัฐบาลแข่งขันด้วยจุดแข็งของประเทศเราขจัดจุดอ่อนที่ยังมีอยู่ให้หมดไปพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระยะยาว เลิกคิดเรื่อง digital wallet อย่าใช้สมองคิดหาทางนำ ยิ่งลักษณ์ กลับบ้านแบบ ทักษิณ