ไบเดน-แฮร์ริสพบปะประธานาธิบดียูเออี หารือประเด็นซูดานและตะวันออกกลาง

โจ ไบเดน และกมลา แฮร์ริส พบปะกับประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางและซูดาน แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับบทบาทของมหาอำนาจอ่าวเปอร์เซียเองต่อความขัดแย้งในซูดาน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จับมือกับชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซายิด อัล-นาห์ยาน ประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ซ้าย) ระหว่างการประชุมทวิภาคีที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน (Photo by Ryan CARTER / UAE PRESIDENTIAL COURT / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2567 กล่าวว่า ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซายิด อัล-นาห์ยาน ประธานาธิบดีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา และได้เข้าพบกับทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ที่ทำเนียบขาว ถือเป็นการเยือนวอชิงตันครั้งแรกของผู้นำแห่งราชวงศ์ที่ร่ำรวยน้ำมัน

ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม ไบเดนและชีคโมฮัมเหม็ดกล่าวว่า พวกเขาต่างมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสงครามที่ใกล้จะเกิดขึ้น เนื่องจากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไปในภูมิภาคดาร์ฟูร์ของซูดาน

ผู้นำทั้งสองยังเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลังกึ่งทหารของซูดาน (RSF) เพื่อกลับสู่กระบวนการทางการเมืองตามปกติ

ทั้งนี้ ซูดานตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากการสู้รบที่ปะทุขึ้นในเดือนเมษายน 2566 ระหว่างกองทัพที่นำโดยอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัย และกองกำลังกึ่งทหารของซูดาน (RSF) ที่นำโดยโมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดาโกล อดีตรองประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของผู้นำสหรัฐและผู้นำยูเออีไม่ได้อ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่าซูดานกล่าวหาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาตลอดว่าให้การสนับสนุนกองกำลังกึ่งทหารซึ่งถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและกวาดล้างชาติพันธุ์ในดาร์ฟูร์

แต่แถลงการณ์กลับระบุว่า "ทุกฝ่ายในความขัดแย้ง (ในซูดาน) ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ"

การหารือของสองผู้นำเกิดขึ้นก่อนหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนิวยอร์ก ซึ่งมีกำหนดอภิปรายเกี่ยวกับความขัดแย้งในซูดานที่ดำเนินมา 17 เดือน โดยเฉพาะการสู้รบในเมืองเอลฟาเชอร์ที่ล่มสลายจากการถูกทำลายล้าง

สงครามของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาก็เป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน โดยคาดว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูฉนวนกาซาหลังสงครามสิ้นสุด

ไบเดน วัย 81 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวหลังจากจับมือกับชีค โมฮัมเหม็ดว่า พวกเขาจะหารือเกี่ยวกับความพยายามในการยุติสงครามฉนวนกาซาและประเด็นต่างๆ

ไบเดนกล่าวว่าเขาได้รับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการในเลบานอนซึ่งการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 500 ราย และเขากำลังดำเนินการเพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์

ไบเดนยังชื่นชมความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอธิบายว่าเป็นประเทศของผู้บุกเบิกซึ่งคอยมองไปยังอนาคตเสมอ และกล่าวว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังจะกลายเป็น "พันธมิตรด้านการป้องกันที่สำคัญ" ของสหรัฐฯ

ขณะที่กมลา แฮร์ริสมีกำหนดพบกับผู้นำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ทำเนียบขาวต่อจากไบเดน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเยือนครั้งนี้ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป โดยระบุว่าการเยือนครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากน้ำมันไปสู่เทคโนโลยี

อันวาร์ การ์กาช ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเออีกล่าวว่า ประชาชนชาวเอมิเรตส์ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมาเป็นลำดับแรก ในความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับสหรัฐอเมริกา

การ์กาชกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับสหรัฐอเมริกาเป็น "ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด" แม้ว่าบางครั้งผู้คนจะชอบพูดถึงความตึงเครียดในความสัมพันธ์นี้ก็ตาม

ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองก็ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย และปฏิเสธที่จะประณามรัสเซียในประเด็นการรุกรานยูเครนตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ