กัมพูชาประกาศถอนตัวจากข้อตกลงพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกับเวียดนามและลาวที่ดำเนินมานานหลายสิบปี โดยถือเป็นการประนีประนอมอย่างกะทันหันต่อนักวิจารณ์ที่กังวลว่าราชอาณาจักรจะเสียดินแดนให้กับเพื่อนบ้าน
ภาพเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา (ตรงกลาง) นายกรัฐมนตรีเหงียน เติ๊น สุง ของเวียดนาม (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีบัวสอน บุบผาวัน ของลาว (ขวา) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV) ครั้งที่ 6 ว่าด้วยเขตพัฒนาสามเหลี่ยม ในกรุงพนมเปญ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ประกาศนำกัมพูชาถอนตัวจากข้อตกลงเขตสามเหลี่ยมเพื่อการพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA) ซึ่งดำเนินมานาน 25 ปี และกลายเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์และการประท้วงจากต่างประเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ในแถลงการณ์ที่โพสต์บนหน้าเฟซบุ๊กของเขาเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ฮุน มาเนตชี้แจงว่ากัมพูชาตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าว และเวียดนามกับลาวได้รับแจ้งถึงการตัดสินใจนั้นแล้ว
เขาโทษ "พวกหัวรุนแรง" ว่าใช้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโจมตีรัฐบาลของเขา โดยกล่าวหาว่ากัมพูชาได้ยกพื้นที่บางส่วนของสี่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สตึงเตรง-รัตนคีรี-มณฑลคีรี-กระแจะ) ให้กับต่างประเทศ (เวียดนาม)
"ด้วยคำนึงถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับดินแดน คณะรัฐบาลจึงได้ตัดสินใจว่ากัมพูชาจะยุติการมีส่วนร่วมในพื้นที่สามเหลี่ยมพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม (CLV-DTA) ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป" ฮุน มาเนตกล่าว
ข้อตกลงที่ลงนามในปี 2542 มุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชากับจังหวัดใกล้เคียงในลาวและเวียดนาม
นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านและชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศบางคนแสดงความกังวลเมื่อไม่นานนี้ว่าข้อตกลงนี้อาจส่งผลดีต่อผลประโยชน์ของต่างประเทศและไม่เป็นธรรมกับประชาชน
เมื่อเดือนที่แล้ว ชาวกัมพูชาในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, แคนาดา, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประท้วงต่อต้านข้อตกลงดังกล่าวและเรียกร้องให้รัฐบาลถอนตัว
รายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทางการกัมพูชาได้จับกุมผู้คนเกือบ 100 คน รวมทั้งเด็กหลายคน ซึ่งพยายามเข้าร่วมการประท้วงที่มุ่งต่อต้านข้อตกลงดังกล่าว โดยฮุน มาเนตเชื่อว่ากลุ่มผู้ประท้วงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพยายามโค่นล้มรัฐบาลของเขา
ทั้งนี้ มีผู้ประท้วงถูกจับกุมและดำเนินคดี 9 คน ส่วนคนอื่นๆ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านกล่าวหาอดีตผู้นำฮุน เซน ซึ่งเป็นบิดาของฮุน มาเนต มานานแล้วว่า ยินยอมยกดินแดนให้เวียดนาม
ความกลัวการรุกรานของเวียดนามเป็นเหตุให้การเมืองของกัมพูชาสั่นคลอนมาช้านาน เนื่องมาจากกระแสต่อต้านรุนแรง
ในโพสต์บนเฟซบุ๊กเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ฮุน เซนได้กล่าวว่าการตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวนั้น เป็นไปเพื่อดับไฟ (ทางการเมือง) ให้หมดสิ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพมนตรี' แฉหลักฐาน กัมพูชาไม่เคยยอมรับ 'เกาะกูด' เป็นของไทย
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm ว่
แฉแผน ผลประโยชน์ทับซ้อน 'ทักษิณ' เคยเป็นที่ปรึกษานายกฯกัมพูชา ที่มีข้อพิพาททางทะเล
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็น ประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ว่า