ไต้หวันคงโทษประหารชีวิต แต่จำกัดใช้เฉพาะกรณีพิเศษ

ศาลไต้หวันพิพากษาให้คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่กำหนดว่าการใช้โทษประหารชีวิตควรจำกัดเฉพาะกรณีพิเศษ

ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันในกรุงไทเป (Photo by Yan ZHAO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 กล่าวว่า ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยได้ประหารชีวิตผู้ต้องขังไปแล้ว 35 ราย นับตั้งแต่มีการยกเลิกพักใช้โทษประหารชีวิตในปี 2553 โดยคดีล่าสุดคือชายวัย 53 ปีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานวางเพลิงจนครอบครัวเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2563

กลุ่มรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตโต้แย้งกันมานานแล้วว่า การกระทำดังกล่าวซึ่งใช้การยิงเป้าผู้ต้องขังเข้าที่หัวใจจากด้านหลังในขณะที่ผู้ต้องขังนอนคว่ำหน้าอยู่บนพื้นนั้นถือเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม จึงได้ยกประเด็นนี้ขึ้นฟ้องต่อศาลฯเพื่อให้มีการพิจารณายกเลิกโทษประหารฯ

คดีฟ้องดังกล่าวถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยผู้ต้องขัง 37 คนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประหารชีวิตในไต้หวัน และศาลฯได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเมื่อวันศุกร์ว่าจะคงโทษประหารชีวิตไว้ตามเดิม

"ไม่ว่าด้วยมุมมองใด โทษประหารชีวิตก็คือโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุด อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของการใช้นั้นสามารถพิจารณาได้ว่าควรจำกัดเฉพาะในสถานการณ์พิเศษและสามารถเป็นข้อยกเว้นได้" ซู่ จงหลี่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวระหว่างการอ่านคำตัดสิน

ในแถลงการณ์ ศาลฯระบุว่า แม้ว่าสิทธิในการดำรงชีวิตจะได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญของไต้หวัน แต่การคุ้มครองดังกล่าวไม่ใช่สถานะที่จะละเมิดขอบเขตกฎหมายได้

“ศาลรัฐธรรมนูญแห่งไต้หวันขอเน้นย้ำว่า โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรงที่สุดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การบังคับใช้และการคุ้มครองตามขั้นตอนตั้งแต่การสอบสวนจนถึงการประหารชีวิต ควรได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด" ศาลฯระบุ

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาชี้ไปยังอรรถคดีแห่งการฆาตกรรม ไม่ได้กล่าวถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของโทษประหารชีวิตโดยทั่วไปหรือโทษที่ใช้กับความผิดอื่นๆ เช่น การทรยศหรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

ศาลฯยังระบุด้วยว่า โทษตัดสินประหารชีวิตนั้นจะไม่บังคับใช้แก่ "จำเลยที่มีภาวะทางจิต" ตัวอย่างเช่น นักโทษขั้นเด็ดขาดไม่ควรถูกประหารชีวิตหากพวกเขามีสภาพจิตใจในระดับที่ขัดขวางความสามารถในการประหารชีวิต

คาเรน กั๋ว โฆษกประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวถึงคำตัดสินของศาลฯว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับกระบวนการยุติธรรมของไต้หวัน

"ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องตามคำตัดสินเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน" โฆษกประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว

กฎหมายอาญาของไต้หวันมีบทบัญญัติประมาณ 50 ประการที่กำหนดให้โทษประหารชีวิตเป็นโทษสูงสุด และการประหารชีวิตจะดำเนินการโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเมื่อกระบวนการอุทธรณ์ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว

โทษประหารชีวิตยังคงเป็นที่นิยมในไต้หวัน โดยการสำรวจล่าสุดของสมาคมสิทธิมนุษยชนจีนแสดงให้เห็นว่า 80 % เห็นด้วยกับการคงโทษประหารชีวิตไว้

แต่ทนายความจากมูลนิธิปฏิรูปตุลาการ ซึ่งรณรงค์เพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตกล่าวว่า พวกเขาเสียใจกับคำตัดสินนี้

"จากวัฒนธรรมและการศึกษาของเรา เรามองว่าโทษประหารชีวิตจะทำให้กฎหมายและระเบียบดีขึ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการก่ออาชญากรรมไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่กลับลดลงแทน เมื่อเราประหารชีวิตน้อยลง"

"เราเสียใจที่ศาลไม่ได้ตัดสินว่าโทษประหารชีวิตนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเราจะทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจถึงความสำคัญของการเคารพชีวิต" ทนายความกล่าว

ไต้หวันได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติว่าเป็นปราการแห่งค่านิยมก้าวหน้า เนื่องจากไต้หวันเป็นแห่งแรกในเอเชียที่ทำให้การแต่งงานมีความเท่าเทียมกันเมื่อปี 2562

อย่างไรก็ตาม จิมมี่ ซู นักวิชาการด้านโทษประหารชีวิตกล่าวว่า ไต้หวันยังคงเป็น "สังคมขงจื๊อตกทอด"

"การแก้แค้นเป็นรูปแบบหนึ่งของความยุติธรรมในสังคมจีนโบราณ เช่นเดียวกับการแก้แค้นให้กับการตายของพ่อแม่หรือญาติสนิท ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางและได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากชนชั้นสูงขงจื๊อในสมัยก่อน และยังมีสิ่งที่หลงเหลือจากอดีตบางส่วนที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจตนเองของสังคม" นักวิชาการฯกล่าวกับเอเอฟพี.

เพิ่มเพื่อน