รัฐบาลโตเกียวเรียกร้องคำตอบกรณีเด็กชายชาวญี่ปุ่นถูกฆ่าในจีน

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งชี้แจงกรณีเด็กชายชาวญี่ปุ่นถูกแทงเสียชีวิตในเซินเจิ้นเมื่อวันพฤหัสบดี และเรียกร้องให้จีนรับรองความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่น

เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำลังตรวจสอบไรเดอร์ส่งของ (ขวา) ซึ่งมาถึงพร้อมกับสิ่งที่ดูเหมือนเป็นช่อดอกไม้ ที่ทางเข้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 19 กันยายน (Photo by GREG BAKER / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 กล่าวว่า เด็กญี่ปุ่นรายหนึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดแทงจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาในเมืองเซินเจิ้น สร้างความกังวลต่อความปลอดภัยของพลเรือนญี่ปุ่นในดินแดนจีน

การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพุธซึ่งตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ฉาวโฉ่ในปี 1931 ช่วงก่อนการยึดครองแมนจูเรียของญี่ปุ่น และเกิดขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีกำลังระหองระแหง

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งชี้แจงกรณีดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้จีนรับรองความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่น

รัฐบาลปักกิ่งออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุสังหารในเวลาต่อมา โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะตัวซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ

แม้ว่าแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุยังไม่ชัดเจน แต่รัฐบาลโตเกียวได้เรียกร้องให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยรอบๆ โรงเรียนญี่ปุ่นในจีน

"ตอนนี้ เราจะขอเรียกร้องให้จีนชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่า 1 วันแล้ว เราจึงคาดหวังว่าจีนจะชี้แจงโดยเร็วที่สุด" นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะกล่าว โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "น่ารังเกียจอย่างยิ่ง"

"ไม่ควรเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เราจะขอเรียกร้องให้จีนรับรองความปลอดภัยของพลเมืองญี่ปุ่นและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในฐานะรัฐบาล" คิชิดะกล่าว

ตำรวจในเซินเจิ้นกล่าวว่าชายคนหนึ่งทำร้ายเด็กญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันพุธ และเด็กถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน โดยผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นชายวัย 44 ปี ถูกควบคุมตัวไว้ได้

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าเด็กคนดังกล่าวซึ่งมีอายุแค่ 10 ขวบและอาศัยอยู่ในเมืองทางตอนใต้ของจีน ถูกทำร้ายใกล้กับโรงเรียนแห่งหนึ่ง

รัฐบาลปักกิ่งทำได้เพียงแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่โชคร้ายครั้งนี้

"พวกเราขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเด็กชายและขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเขา" หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวในการแถลงข่าว

เมื่อถูกถามว่าเหตุการณ์แบบนี้มีนัยยะซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ หลินกล่าวว่า "ตามความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ นี่เป็นกรณีเฉพาะบุคคล ซึ่งกรณีที่คล้ายกันอาจเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ"

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนที่เด็กชายจะเสียชีวิต มาซาทากะ โอคาโน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของญี่ปุ่นได้เรียกตัวหวู่ เจียงห่าว เอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่นมาบอกกล่าวความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้

กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวว่า โอคาโนเรียกร้องอย่างจริงจังให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัย รวมถึงบริเวณรอบๆ โรงเรียนของญี่ปุ่นทั่วประเทศจีน

กรณีทำร้ายเคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน โดยแม่และลูกชาวญี่ปุ่นคู่หนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีด้วยมีดในเมืองซูโจวใกล้กับเซี่ยงไฮ้ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศของจีนได้อธิบายว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะบุคคล ในเหตุดังกล่าวหญิงชาวจีนวัย 55 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตขณะพยายามหยุดคนร้าย และรัฐบาลท้องถิ่นยกย่องการกระทำของเธอหลังการเสียชีวิต

ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ล่าสุดมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันครบรอบเหตุการณ์มุกเดนในปี 1931 หรือเหตุการณ์แมนจูเรียในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในจีนเรียกว่าวันแห่งความอัปยศอดสูของชาติ

ในขณะนั้น ทหารญี่ปุ่นใช้ระเบิดบนทางรถไฟเป็นข้ออ้างในการยึดเมืองมุกเดนซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเฉิ่นหยาง และรุกรานพื้นที่แมนจูเรีย

กระทรวงต่างประเทศของจีนยังไม่แสดงความคิดเห็นเมื่อถูกถามในการแถลงข่าวเกี่ยวกับความสำคัญของวันดังกล่าว ซึ่งสื่อของรัฐระบุว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมามีเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นในหลายเมือง

ความสัมพันธ์ของจีนและญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจีนมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในข้อพิพาทเรื่องดินแดนในภูมิภาค และญี่ปุ่นเองก็เพิ่มความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

เมื่อปีที่แล้ว จีนได้ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงในมหาสมุทรแปซิฟิก

หลังจากกรณีดังกล่าว อิฐและไข่ก็ถูกขว้างใส่โรงเรียนและสถานกงสุลของญี่ปุ่นเพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจของประชาชนจีน อีกทั้งธุรกิจในญี่ปุ่นยังถูกรบกวนจากการโทรป่วนอีกด้วย

ในสัปดาห์นี้ เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนได้แล่นระหว่างเกาะญี่ปุ่นสองเกาะใกล้กับไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำน่านน้ำที่ต่อเนื่องกันของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก

ฮิโรชิ โมริยะ โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า "เหตุการณ์นี้ไม่สามารถยอมรับได้โดยสิ้นเชิงจากมุมมองของสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยของญี่ปุ่นและภูมิภาค และเราได้แสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อฝ่ายจีนผ่านช่องทางการทูต"

จีนเคยอ้างว่าการรุกล้ำน่านฟ้าของญี่ปุ่นโดยเครื่องบินตรวจการณ์ของจีนซึ่งเกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งเดือนนั้น สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน