ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมในเมียนมาแตะระดับ 226 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่ตัวเลข 226 ราย ขณะที่สหประชาชาติเตือนว่าอาจมีประชาชนมากถึง 630,000 คนที่ต้องการความช่วยเหลือ

ผู้ประสบภัยเดินลุยน้ำท่วมในเมืองปินมานา ภูมิภาคเนปยีดอ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 13 กันยายน (Photo by Sai Aung MAIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมหนักในเมียนมายังคงไม่คลี่คลาย มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในชั่วข้ามคืน ประชาชนยังรอความช่วยเหลืออีกมาก ขณะที่รัฐบาลก็รอความช่วยเหลือจากต่างประเทศเช่นกัน

พายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มภาคเหนือของเวียดนาม, ลาว, ไทย และเมียนมาเมื่อกว่า 1 สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เกิดลมแรงและฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มตามมา คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 500 ราย ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ

สถานีโทรทัศน์ในเมียนมาที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐบาลทหาร ยืนยันยอดผู้เสียชีวิต 226 รายเมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากยอดผู้เสียชีวิตก่อนหน้าที่ 113 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้สูญหายอีก 77 คน

สถานีโทรทัศน์ยังรายงานด้วยว่าพื้นที่นาข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เกือบ 260,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,625,000 ไร่) ถูกทำลายจากอุทกภัยครั้งนี้

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) ประมาณการว่า ประชาชนเมียนมาราว 631,000 คนกำลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

UNOCHA กล่าวว่าต้องการอาหาร, น้ำดื่ม, ที่พักพิง และเสื้อผ้าอย่างเร่งด่วน ขณะที่ถนนหนทางและสะพานที่ชำรุดเสียหายล้วนเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อความพยายามบรรเทาทุกข์

ทั้งนี้ การติดต่อสื่อสารที่ติดขัด โดยเฉพาะกับพื้นที่ห่างไกล ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้รับการแจ้งล่าช้ากว่าความเป็นจริง

หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่าบ้านเรือนมากกว่า 150,000 หลังพังเสียหายจากน้ำท่วม และคณะรัฐบาลทหารได้เปิดค่ายบรรเทาทุกข์มากกว่า 400 แห่ง เพื่อรองรับการอพยพ

โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าอุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมียนมา

อุทกภัยร้ายแรงเคยเกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อปี 2554 และ 2558 โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายในทั้งสองครั้ง ขณะที่พายุไซโคลน 'นาร์กีส' ในปี 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายมากกว่า 138,000 ราย

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่จนถึงปัจจุบัน อินเดียซึ่งมีพรมแดนติดกัน เป็นประเทศเดียวที่ตอบสนองต่อคำร้องขอดังกล่าวด้วยการสนับสนุนอาหารแห้ง, เสื้อผ้า, ยารักษาโรค และสิ่งของจำเป็นต่างๆจำนวน 10 ตัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ปฎิเสธหรือขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศมาตลอด เช่น เมื่อปีที่แล้วที่กองทัพได้ระงับใบอนุญาตเดินทางของกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่พยายามเข้าถึงผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนโมคาที่รุนแรงซึ่งพัดถล่มทางตะวันตกของประเทศ และส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่าล้านราย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนหลายแสนคนในภูมิภาคนี้ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเนื่องจากฝนที่ตกหนักทำให้แม่น้ำและลำธารเอ่อล้นตลิ่ง

หลายคนต้องลุยน้ำสีน้ำตาลขุ่นที่สูงจนถึงคาง ในขณะที่บางคนใช้ทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อออกจากพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งการใช้ช้างในเมียนมาและเจ็ตสกีในประเทศไทย

จังหวัดทางภาคเหนือของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยมีอำเภอหนึ่งรายงานว่าเกิดอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 15 รายแล้ว ตามตัวเลขล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินสูงสุด 200,00 บาทต่อครัวเรือนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ในเวียดนาม มียอดผู้เสียชีวิต 292 ราย, สูญหาย 38 คน, บ้านเรือนเสียหายมากกว่า 230,000 หลัง รวมทั้งพื้นที่เพาะปลูกอีก 280,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,750,000 ไร่) ตามรายงานของทางการ

ไต้ฝุ่นยางิซึ่งเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มทางตอนเหนือของประเทศในรอบหลายทศวรรษ ได้พัดถล่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและที่ตั้งของศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญอีกด้วย ส่งผลให้โรงงานและโครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สื่อของเวียดนามรายงานว่า ไต้ฝุ่นสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจไปแล้วอย่างน้อย 40 ล้านล้านดอง (ประมาณ 54,000 ล้านบาท) จากการประเมินเบื้องต้นของรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง