4 ประเทศอาเซียนยังคงต้องต่อสู้กับอุทกภัยที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกิน 250 ราย

ผู้คนนับล้านใน 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องดิ้นรนกับภาวะน้ำท่วมบ้านเรือน, ไฟฟ้าดับ และโครงสร้างพื้นฐานพังเสียหาย หลังจากพายุไต้ฝุ่นยางิพัดผ่านภูมิภาคนี้ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 250 ราย

ชาวเมียนมาแบกสัมภาระลุยน้ำท่วมสูงจากอิทธิพลของพายุยางิ ในเมืองตองอูของภูมิภาคบาโก เมื่อวันที่ 12 กันยายน (Photo by Sai Aung MAIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 กล่าวว่า อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิยังคงคุกคามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำพาฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรงมาสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของภูมิภาค ทั้งเวียดนาม, ลาว, ไทย และเมียนมา ส่งผลให้เกิดดินถล่มและระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายเอ่อล้นเข้าสู่พื้นที่เมือง

เวียดนามคือประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด มียอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 226 ราย ขณะที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 9 รายจากอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปี

หน่วยดับเพลิงแห่งชาติของเมียนมายืนยันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพายุยางิเป็นครั้งแรกของประเทศ หลังจากกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ 17 รายจากหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ขณะที่ประชาชนมากกว่า 50,000 รายต้องอพยพออกจากบ้านเรือน

องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยว่าไต้ฝุ่นได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนมากกว่า 140,000 หลังใน 26 จังหวัดของเวียดนาม

ล่าสุด น้ำท่วมในเวียดนามกำลังลดระดับลง และไหลลงสู่ทะเลผ่านแม่น้ำแดงซึ่งเป็นลำน้ำหลักในพื้นที่

เจ้าหน้าที่ในหลายอำเภอของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงสั่งอพยพประชาชนมากกว่า 50,000 คนออกจากบ้านเรือนเพื่อป้องกันไว้ก่อนในขณะที่ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่าน

กระทรวงเกษตรของเวียดนามกล่าวว่า น้ำท่วมได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรไปแล้วกว่า 250,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,562,500 ไร่) เช่นเดียวกับปศุสัตว์จำนวนมาก โดยพื้นที่เกษตรกรรมรอบกรุงฮานอยได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ในเหตุการณ์ครั้งเดียวที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ ดินถล่มในจังหวัดหล่าวกาย ซึ่งทำลายบ้านเรือน 37 หลัง, คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 42 ราย และสูญหายอีก 53 คน

ในเมียนมา รัฐบาลทหารได้จัดตั้งค่ายผู้ประสบภัยประมาณ 50 แห่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

สื่อของเมียนมารายงานว่า บริการรถไฟบนเส้นทางหลักระหว่างกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ถูกระงับ เนื่องจากน้ำท่วมรางรถไฟบางส่วน

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดูแลเส้นทางน้ำสำคัญสายนี้ ได้ออกคำเตือนเรื่องน้ำท่วมในเมืองหลวงพระบางของลาวซึ่งเป็นมรดกโลกของยูเนสโก และเรียกร้องให้ดำเนินการเตรียมตัวรับมือสถานการณ์เลวร้ายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของไทยเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย โดย 6 รายเสียชีวิตจากดินถล่มในจังหวัดเชียงใหม่ และ 3 รายเสียชีวิตจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย

ล่าสุด ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงในเชียงรายประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและออก เนื่องจากภาวะน้ำท่วมคุกคาม ทำให้ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม

นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้

'ดอยอินทนนท์' หนาว! เริ่มเปิดเส้นทางชมธรรมชาติ

นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กำหนดจัดกิจกรรมเปิดการท่องเที่ยว

เทศบาลนครเชียงใหม่ ยันพร้อมจัดงานประเพณีเดือนยี่เป็ง ยิ่งใหญ่อลังการหลังน้ำท่วม

นายมนต์ชัย พงษ์เกียรติก้อง รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เทศบาลนครเชียงใหม่ได้เริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมและแผนการจัดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ประจำปี 2567 แล้ว ซึ่งในปีนี้จะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการไม่ลดความอลังการใดๆ โดยจัดภายใต้แนวคิด

วางคิว ‘นายกฯอิ๊งค์’ ลงพื้นที่แม่สายเดือนพ.ย. ก่อนประชุม ครม.สัญจรครั้งแรก จ.เชียงใหม่

ในเดือนหน้า นายกฯมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.เชียงราย และเป็นประธานประชุม ครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.สัญจรนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้

โฆษกศปช. เผยเคลียร์พื้นที่น้ำท่วมเชียงรายเสร็จเกือบ 100% แล้ว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ตอนหนึ่งว่า สรุปศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม