แคปซูลอวกาศ Starliner กลับสู่โลกได้สำเร็จ แต่ปราศจากนักบินอวกาศ

(ภาพจากการถ่ายทอดสดของนาซา สามารถมองเห็นแคปซูลอวกาศ Starliner ของโบอิ้งกำลังเคลื่อนตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อกลับสู่พื้นผิวโลกแบบไร้คนควบคุม เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา – Photo by NASA / AFP)

แคปซูลอวกาศ Starliner ที่ประสบปัญหาได้กลับจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มายังโลกได้สำเร็จ โดยไม่มีนักบินอวกาศอยู่บนยานเหมือนที่วางแผนไว้ในตอนแรก

แคปซูลอวกาศของบริษัทการบินโบอิ้งของสหรัฐฯ ลงจอดเมื่อวันเสาร์ในรัฐนิวเม็กซิโก ส่วนนักบินอวกาศสหรัฐฯ บุตช์ วิลมอร์ และซูนี วิลเลียมส์ ยังต้องอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจึงจะกลับมาพร้อมกับยานอวกาศ SpaceX ซึ่งเป็นคู่แข่งของโบอิ้ง

การส่งแคปซูล Starliner กลับสู่โลกโดยปราศจากคนควบคุมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแคปซูลอวกาศถูกปล่อยออกจาก ISS และเดินทางมายังโลก มันใช้เวลาประมาณหกชั่วโมงก่อนจะแตะพื้นดินที่ฐานทัพไวท์แซนด์ ในนิวเม็กซิโก การลงจอดถูกชะลอความเร็วลงตามที่วางแผนไว้ด้วยร่มชูชีพและมีถุงลมนิรภัยรองรับ

แคปซูล Starliner ขึ้นไปเทียบท่าที่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมีวิลมอร์และวิลเลียมส์เป็นผู้ควบคุม และคาดว่าจะเดินทางกลับมายังโลกอีกครั้งหลังจากผ่านไปแปดวัน นั่นเป็นการบินโดยมนุษย์ครั้งแรกของแคปซูลอวกาศ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมหลายปี เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค

ภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายก่อนจะนำยานอวกาศมาใช้เป็นกิจลักษณะ แต่ภารกิจนี้ก็ถูกบดบังด้วยข้อบกพร่องทางเทคนิคเช่นกัน เมื่อเทียบท่าที่ ISS เกิดปัญหากับตัวขับดันของแคปซูลซึ่งจำเป็นสำหรับการหลบหลีกที่แม่นยำ นอกจากนี้ยังมีการค้นพบการรั่วไหลของฮีเลียมก่อนเครื่องขึ้นและระหว่างการบิน

เครือบริษัทโบอิ้งซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสายการบินหลายครั้ง ได้พยายามโน้มน้าวนาซาถึงความปลอดภัยของแคปซูลอวกาศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานอวกาศของสหรัฐฯ ตัดสินใจจะส่งนักบินอวกาศทั้งสองกลับมายังโลกพร้อมกับแคปซูลอวกาศ Dragon จากบริษัท SpaceX แทน แต่ต้องรอถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งหมายความว่าวิลมอร์และวิลเลียมส์จะต้องอยู่ในอวกาศนานกว่าที่วางแผนไว้ถึงแปดเดือน

ขณะนี้มีนักบินอวกาศทั้งหมด 6 คนบน ISS ซึ่งประกอบด้วยลูกเรือประจำสถานีอวกาศ 4 คน และนักบินอวกาศ Starliner 2 คน

องค์การนาซาแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการลงจอดของแคปซูลอวกาศ “การเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้แทบจะไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เลย” สตีฟ สติช-หัวหน้าภารกิจอวกาศกล่าว ขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่ามีปัญหาใหม่เกิดขึ้น อย่างเช่น เครื่องยนต์ใหม่ขัดข้องและระบบควบคุมไม่ทำงานชั่วคราว

ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเที่ยวบิน Starliner ครั้งต่อไปที่วางแผนไว้สำหรับเดือนสิงหาคมปี 2025 จะสามารถปฏิบัติการร่วมกับลูกเรือได้หรือไม่ สติชกล่าว นาซายังคงต้องประเมินข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในยานอวกาศ

เคน โบเวอร์ซอกซ์-รองผู้อำนวยการภารกิจอวกาศกล่าวว่า นาซาและโบอิ้งได้ประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับ Starliner ผ่านภารกิจดังกล่าว ขณะนี้นาซากำลังรอคอยที่จะร่วมมือกับโบอิ้งเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการรับรองแคปซูลอวกาศสำหรับเที่ยวบินที่มีคนควบคุมไปยัง ISS

เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคของโครงการ Starliner ทำให้โบอิ้งมีคะแนนตามหลัง SpaceX อย่างมาก ในปี 2014 นาซาได้ทำสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับทั้งสองบริษัทเพื่อขนส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ บริษัท SpaceX ซึ่งก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีอย่างอีลอน มัสก์ ประสบความสำเร็จในขนส่งนักบินอวกาศไปยัง ISS และเดินทางกลับสู่โลกตั้งแต่ปี 2020 ตรงกันข้ามกับบริษัทโบอิ้งโดยสิ้นเชิง.

เพิ่มเพื่อน