ปูตินเยือนมองโกเลีย ไม่หวั่นถูกจับฐานอาชญากรสงคราม

วลาดิมีร์ ปูตินเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเยือนประเทศสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ครั้งแรก นับตั้งแต่ถูกออกหมายจับเมื่อปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีอุคนากิน คือเรลซึค ของมองโกเลีย (ซ้าย) เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการในกรุงอูลานบาตอร์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน (Photo by Kristina Kormilitsyna / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเยือนมองโกเลียอย่างเป็นทางการ และได้รับการต้อนรับจากกองเกียรติยศขณะที่เขามาถึงกรุงอูลานบาตอร์เพื่อเริ่มการเดินทางครั้งสำคัญ ซึ่งถือเป็นการแสดงการท้าทายศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี), ยูเครน, ชาติตะวันตก และกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทำการจับกุมตัวเขา

ศาลในกรุงเฮกต้องการตัวผู้นำรัสเซียในข้อกล่าวหาเนรเทศเด็กชาวยูเครนอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่กองกำลังของเขาบุกเข้าประเทศในปี 2565

ยูเครนตอบโต้การเดินทางครั้งนี้ด้วยความโกรธแค้น โดยกล่าวหาว่ามองโกเลียมีส่วนต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของปูติน หลังจากที่ทางการไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้ตั้งแต่ที่สนามบิน

รัฐบาลเคียฟเรียกร้องให้มองโกเลียดำเนินการตามหมายจับ ขณะที่ศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าสมาชิกทั้งหมดมี "ภาระผูกพัน" ที่จะต้องควบคุมตัวผู้ที่ศาลร้องขอ

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ หากรัฐบาลอูลานบาตอร์ไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ส่งผลใดๆ

มองโกเลียเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและจีนซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลมอสโก ตลอดจนมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญกับรัฐบาลปักกิ่ง

ทั้งนี้ มองโกเลียเคยอยู่ภายใต้การปกครองในช่วงยุคโซเวียต และตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 มองโกเลียก็พยายามรักษาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรกับทั้งรัสเซียและจีน

มองโกเลียไม่ได้ประณามรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน และงดออกเสียงเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติ

ขณะที่รัฐบาลมอสโกกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ไม่มีความกังวลใดๆว่าผู้นำของตนจะถูกจับกุมระหว่างการเยือนครั้งนี้ และรัสเซียไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลอาญาระหว่างประเทศ

จัตุรัสเจงกีสข่านซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองหลวงหรือที่รู้จักกันในชื่อจัตุรัสซุคบาตาร์ ประดับประดาด้วยธงชาติมองโกเลียและรัสเซีย เพื่อต้อนรับการเยือนประเทศครั้งแรกของปูตินในรอบ 5 ปี

มีการประท้วงเล็กๆ เกิดขึ้นที่นั่นในช่วงบ่ายวันจันทร์ โดยผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งถือป้ายเรียกร้องให้ "ขับไล่อาชญากรสงครามออกไปจากที่นี่"

มีการวางแผนประท้วงอีกครั้งในตอนเที่ยงวันอังคารที่อนุสาวรีย์ผู้ถูกกดขี่ทางการเมืองในอูลานบาตอร์ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการรำลึกถึงผู้ทุกข์ทรมานภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ของมองโกเลียที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตมายาวนานหลายทศวรรษ

การเยือนของปูติน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 85 ปีแห่งชัยชนะเด็ดขาดเหนือจักรวรรดิญี่ปุ่นโดยกองกำลังมองโกเลียและโซเวียต จะทำให้เขาได้พบกับประธานาธิบดีอุคนากิน คือเรลซึค

ก่อนการเดินทาง ปูตินเอ่ยถึง "โครงการเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดี" หลายประการระหว่างทั้งสองประเทศในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อูนูดูร์ของมองโกเลีย

หนึ่งในนั้นรวมถึงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซทรานส์มองโกเลียที่เชื่อมโยงจีนและรัสเซีย

ประธานาธิบดีรัสเซียยังกล่าวอีกว่าเขาสนใจที่จะดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการประชุมสุดยอดไตรภาคีระหว่างตัวเขาเอง, ผู้นำมองโกเลีย และผู้นำจีน

รัฐบาลอูลานบาตอร์ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้องให้จับกุมปูติน

แต่โฆษกของประธานาธิบดีมองโกเลียได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปฏิเสธรายงานที่ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศได้ส่งจดหมายขอให้ดำเนินการตามหมายจับเมื่อปูตินมาเยือน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเตือนเมื่อวันจันทร์ว่า การที่มองโกเลียไม่จับกุมปูตินอาจทำให้ความชอบธรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศลดน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้สายลับเคจีบีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอยู่มานานเกือบ 25 ปี กล้าที่จะมีอำนาจมากขึ้น

"ประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้หลบหนีกระบวนการยุติธรรม" อัลทันตูยา บัตดอร์จ ผู้อำนวยการบริหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มองโกเลีย กล่าวในแถลงการณ์

"การเดินทางเยือนประเทศสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศครั้งใดก็ตามที่ไม่จบลงด้วยการถูกจับกุม จะเป็นการสนับสนุนแนวทางปฏิบัติปัจจุบันของประธานาธิบดีปูติน และจะต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเชิงกลยุทธ์เพื่อบ่อนทำลายการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ" แอมเนสตี้กล่าว.

เพิ่มเพื่อน