มาครงกดดัน หลายฝ่ายเร่งให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เร่งความพยายามในการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังเผชิญทางตันมานานเกือบสองเดือนจากการเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่มีบทสรุป

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส (ซ้าย) และกาเบรียล แอตทาล นายกรัฐมนตรีรักษาการ (Photo by Teresa Suarez / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567 กล่าวว่า ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วเกือบสองเดือน แต่ฝรั่งเศสยังคงไม่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใหม่ เพราะยังไม่มีพรรคการเมืองในรัฐสภาที่สามารถรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมได้

ปัจจุบัน กาเบรียล แอตทาลทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส พร้อมประคองคณะทำงานในการขับเคลื่อนประเทศเพียงชั่วคราวเท่านั้นตามคำขอของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ที่ต้องการให้แอตทาลอยู่ในตำแหน่งจนผ่านพ้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีสเสียก่อน ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองสายกลางของเขามีเวลามากขึ้นในการหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพันธมิตรฝ่ายซ้ายซึ่งได้ที่นั่งมาเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม

พันธมิตรฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา โดยมีฝ่ายกลางของมาครง และฝ่ายขวาจัดได้คะแนนไล่เรียงกันลงมา แต่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และทั้งสามฝ่ายไม่มีใครยอมจับมือร่วมกันตั้งรัฐบาลผสม ตลอดจนการนำเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาทำงานร่วมกับมาครง

ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสมีอยู่ 2 คน ได้แก่ แบร์นาร์ กาซเนิฟว์ อดีตนายกรัฐมนตรีสายกลาง-ซ้าย และซาเวียร์ เบอร์ทรานด์ อดีตรัฐมนตรีฝ่ายขวาจัด

ตามธรรมเนียมแล้ว ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะปรึกษาหารือกับผู้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าในช่วงเวลาที่มีความสำคัญระดับชาติ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาครงได้พบปะกับอดีตประธานาธิบดี 2 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ นิโกลาส์ ซาร์โกซี ผู้นำฝ่ายขวา และฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำพรรคสังคมนิยม ที่พระราชวังเอลิเซ

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีมาครงปฏิเสธที่จะรับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากฝ่ายซ้าย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายซ้าย โดยให้เหตุผลว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีทางรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาได้

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ประธานาธิบดีมาครงซึ่งดำรงตำแหน่งมาไม่ถึง 3 ปี ยังคงทำหน้าที่อย่างมีความสุขในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งทำให้ฝ่ายค้านรู้สึกหงุดหงิดมากขึ้น

ท่ามกลางสัญญาณของการเร่งรัดมากขึ้นเมื่อฝรั่งเศสกลับมาจากการทำหน้าที่ระดับชาติ ประธานาธิบดีมาครงได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับและพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับกาซเนิฟว์ อดีตผู้นำพรรคสังคมนิยมที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลในช่วงเดือนสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของออลลองด์ในปี 2555-2560

นักวิจารณ์มองว่า กาซเนิฟว์เป็นบุคคลที่มาครงมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเสนอชื่อ แต่การแต่งตั้งเขานั้นยังห่างไกลจากข้อสรุปที่คาดเดาได้

กาซเนิฟว์ วัย 61 ปี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาหลายปี รวมถึงในช่วงเหตุการณ์โจมตีที่ปารีสในปี 2558 และได้รับความเคารพจากทุกฝ่ายการเมือง

แต่กลุ่มฝรั่งเศสไม่ยอมก้มหัว (LFI) ซึ่งเป็นกลุ่มซ้ายจัดกลับไม่ประทับใจและประกาศจะไม่ลงคะแนนเสียงให้ ด้วยเหตุว่าเขาเป็นคนโลกเก่า

แต่ในสัญญาณของความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น มาครงยังเตรียมที่จะหารือกับซาเวียร์ เบอร์ทรานด์ อดีตรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายขวาของภูมิภาคโอต์-เดอ-ฟร็องซ์ทางตอนเหนือ

เบอร์ทรานด์ วัย 59 ปี น่าจะเป็นบุคคลที่ฝ่ายขวาพอใจมากกว่าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลายฝ่ายเชื่อว่าการที่พันธมิตรฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา ทำให้การได้นายกรัฐมนตรีจากฝั่งขวาจะถือเป็นจุดศูนย์ถ่วงที่ดีของการเมืองฝรั่งเศส

อีกประการหนึ่ง สำหรับประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2560 มาครงเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นการแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรี (กาซเนิฟว์) จากรัฐบาลชุดก่อนอาจถือเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า 'โลกใหม่' ได้ล้มเหลวแล้ว

มีการคาดเดาความเป็นไปได้ของบุคคลที่สามที่มาครงอาจมองไว้ นั่นคือ เธียร์รี โบเดต์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (CESE) และเป็นบุคคลที่ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่รู้จักเลย

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเผชิญกับภารกิจที่ละเอียดอ่อนที่สุดในการพยายามหาบทสรุปการทำงานในสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีความขัดแย้งกันอย่างมากในช่วงเวลาที่มีความท้าทายมากมาย

ขณะนี้เส้นตายสำหรับรัฐบาลใหม่ในการยื่นร่างกฎหมายงบประมาณปี 2568 กำลังจะมาถึงในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของกาเบรียล แอตทาล ไม่สามารถรับผิดชอบได้

ภายใต้สถานการณ์หนี้สินที่พุ่งสูงถึง 110% ของผลผลิตมวลรวมรายปี ฝรั่งเศสจึงต้องประสบกับการปรับลดอันดับเครดิตจาก Standard and Poor's ในปีนี้ และถูกคณะกรรมาธิการยุโรปตำหนิเรื่องการขาดดุลงบประมาณที่มากเกินไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พันธมิตรฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสเสนอ ‘ลูซี กาสเต็ทส์’ ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้ชนะการเลือกตั้งรัฐสภาช่วงต้นในฝรั่งเศสตัดสินใจเลือก ลูซี กาสเต็ทส์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลในอนาคต แต่ประธา