เยอรมนีแก้กฎหมายการใช้มีดเข้มงวดขึ้น ตอบสนองเหตุโจมตีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต

เยอรมนีจะเข้มงวดในการควบคุมการใช้มีดและระงับสวัสดิการสำหรับผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายบางส่วน เพื่อตอบโต้เหตุการณ์ไล่แทงคนที่คาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามิสต์

 

มาร์โก บุชมันน์ รัฐมนตรียุติธรรมเยอรมนี (ซ้าย) และแนนซี ฟาเซอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี แถลงข่าวเกี่ยวกับการนำเสนอมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงกฎหมายควบคุมการใช้มีดที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม (Photo by JOERG CARSTENSEN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า รัฐบาลเยอรมนีเตรียมแก้กฏหมายเพิ่มความเข้มงวดของอาวุธมีด หลังเผชิญเหตุร้ายในเมืองโซลิงเกนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนร้ายก่อเหตุแทงคนที่งาน "เทศกาลแห่งความหลากหลาย" ซึ่งนอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 8 คน โดยฝีมือของชายชาวซีเรียวัย 26 ปีที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามิสต์

แนนซี ฟาเซอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนีกล่าวว่า รัฐบาลจะเข้มงวดต่อการควบคุมการใช้มีดและระงับสวัสดิการสำหรับผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายบางส่วน เพื่อตอบโต้เหตุการณ์ดังกล่าว

เหตุทำร้ายด้วยอาวุมีดได้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานในเยอรมนี และกดดันให้รัฐบาลดำเนินการก่อนการเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่สำคัญในวันอาทิตย์นี้

"เหตุการณ์แทงกันครั้งนี้สร้างความตกใจให้กับเราอย่างมาก" ฟาเซอร์กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับมาร์โก บุชมันน์ รัฐมนตรียุติธรรม

"ภัยคุกคามจากการโจมตีครั้งนี้เรียกร้องให้มีมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกับการควบคุมอาวุธและเสริมสร้างหน่วยงานความมั่นคง ดังนั้นการพกมีดในงานเทศกาล เช่น ที่เมืองโซลิงเกน รวมถึงงานกีฬาและงานสาธารณะอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน จะถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด" ฟาเซอร์กล่าว

เธอกล่าวเสริมว่า จะมีการห้ามใช้มีดด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้มีดบนรถไฟทางไกล ตลอดจนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมบริการและนักแสดงด้วย โดยตำรวจจะได้รับอำนาจมากขึ้นในการค้นตัวประชาชน

ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุในเมืองโซลิงเกนซึ่งมีชื่อว่า อิสซา อัล เอช. ได้หลบหนีตำรวจในช่วงแรก ก่อนถูกควบคุมตัวได้เมื่อวันเสาร์

ผู้ต้องสงสัยควรจะถูกเนรเทศไปยังบัลแกเรีย ซึ่งเป็นดินแดนที่เขามาถึงสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรก แต่การดำเนินการล้มเหลวหลังจากที่เขาหายตัวไป

ดูเหมือนว่าชายวัย 26 ปีรายนี้จะหลีกเลี่ยงความพยายามขับไล่เขาออกจากประเทศได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลปราบปรามการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

"กระบวนการทั้งหมดจะต้องได้รับการตรวจสอบ จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่เราจะสามารถเนรเทศผู้คนได้เร็วขึ้น" บุชมันน์ รัฐมนตรียุติธรรมกล่าว

บุชมันน์กล่าวว่า คดีที่ไม่สามารถเนรเทศบุคคลออกไปได้เนื่องจากทางการไม่สามารถติดตามตัวบุคคลได้นั้น จะต้องยุติลง

รัฐมนตรีมหาดไทยเสริมว่า ในอนาคต เยอรมนีจะปฏิเสธการจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่ผู้อพยพที่จะถูกเนรเทศไปยังประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป

"สำหรับคดีที่ต้องดำเนินขั้นตอนการขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศสมาชิกอื่นๆ และได้รับการอนุมัติคำขอย้ายถิ่นฐานในประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องแล้ว ควรงดรับสวัสดิการ" ฟาเซอร์กล่าว

เธอยังระบุด้วยว่ารัฐบาลจะพยายามขจัดอุปสรรคทุกอย่าง เพื่อให้เกิดการเนรเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

"รัฐบาลจะยังคงทำงานอย่างเข้มข้นต่อไปเพื่อเริ่มการเนรเทศไปยังอัฟกานิสถานและซีเรียอีกครั้ง หลังระงับมาหลายปีแล้ว" ฟาเซอร์ทิ้งท้าย

การอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพเป็นประเด็นสำคัญในช่วงก่อนการเลือกตั้งในรัฐทูรินเจียและแซกโซนีทางภาคตะวันออกในวันอาทิตย์ และพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดกำลังได้รับคะแนนนิยมที่ดีอย่างต่อเนื่อง

พรรคฯดังกล่าวทึ่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพกล่าวหารัฐบาลที่ผ่านมาว่ามีส่วนทำให้เกิดความโกลาหล โดยปล่อยให้ผู้อพยพเข้ามาในประเทศมากเกินไป

ขณะเดียวกัน พรรคโซเชียลเดโมแครตของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ก็ดูเหมือนว่าจะมีกระแสนิยมไม่ดีนัก เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในรัฐบาลผสมของเขา ซึ่งก็คือพรรคกรีนส์และพรรค FDP

พรรคอนุรักษนิยม (CDU) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเยอรมนี ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อจำกัดปัญหาผู้อพยพ

เมื่อวันพุธ ชอลซ์ได้แสวงหาการตอบสนองจากพรรคต่างๆ และกล่าวว่าเขาจะหารือเกี่ยวกับนโยบายผู้อพยพกับพรรคอนุรักษนิยมและตัวแทนจากรัฐต่างๆ ของเยอรมนี.

เพิ่มเพื่อน