มาเลเซียบ่นอุบ 'ฮุน เซน' เยือนเมียนมาไม่ปรึกษาอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางเยือนเมียนมาของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยไม่มีการปรึกษาหารือกับสมาชิกอาเซียนชาติอื่นก่อนไป ระบุหลายชาติมีความกังขาและห่วงว่าจะถูกตีความเป็นการยอมรับรัฐบาลทหาร

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 นายกฯ ฮุน เซน (ขวา) จับมือกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระหว่างงานเลี้ยงรับรองมื้อค่ำที่กรุงเนปยีดอ (Photo by An Khoun SamAun / National Television of Cambodia (TVK) / AFP)

ปัจจุบันกัมพูชาเป็นประธานของกลุ่มอาเซียน โดยรัฐบาลของนายกฯ ฮุน เซน แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการดึงเมียนมากลับเข้าเกี่ยวพันกับอาเซียนอีกครั้ง หลังจากอาเซียนที่บรูไนเป็นประธานเมื่อปีที่แล้ว ปฏิเสธเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม เนื่องจากเมียนมาไม่ปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อที่เคยตกลงไว้กับอาเซียน

ฮุน เซน เดินทางเยือนเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพบปะกับมิน อ่อง หล่าย โดยสื่อของทางการเมียนมากล่าวว่า ผู้นำเมียนมาขอบคุณฮุน เซน สำหรับ "การยืนหยัดเคียงข้างเมียนมา"

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 กล่าวว่า ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีว่า ในอาเซียนมีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเยือนของฮุน เซน โดยมีบางประเทศวิตกกังวลว่า การเยือนอย่างเป็นทางการของฮุน เซน จะถูกมองเป็นการให้ความชอบธรรมต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

"มีคนที่คิดว่าเขาไม่ควรไปเยือน เพราะการเยือนของเขาถูกตีความหรือแปลความว่าเป็นการยอมรับทหารในเมียนมา" รัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวถึงฮุน เซน "มาเลเซียมีความเห็นว่า เขามีสิทธิเยือนเมียนมาในฐานะผู้นำรัฐบาลกัมพูชา อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกเช่นกันว่า เพราะเขารับตำแหน่งประธานอาเซียนแล้ว บางทีเขาควรจะปรึกษาหารือกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ เพื่อสอบถามทัศนะว่า เขาควรทำอย่างไรหากเขาจะเดินทางไปเมียนมา"

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามไซฟุดดินว่า เขาคิดว่าการเยือนของฮุน เซน ประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาตอบว่า "ไม่"

มาเลเซียเป็นหนึ่งในหลายประเทศอาเซียนที่วิจารณ์การก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และสนับสนุนการบอยคอตผู้นำเมียนมาหลังจากความล้มเหลวในการปฏิบัติตามโรดแม็ปสันติภาพของอาเซียน ประเทศอื่นที่มีจุดยืนคล้ายกันได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

เดิมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนมีกำหนดหารือกันที่กัมพูชาสัปดาห์หน้า การประชุมถูกเลื่อนออกไป ไซฟุดดินปฏิเสธว่าเกิดจากเหตุผลเรื่องความตึงเครียดเกี่ยวกับเมียนมา โดยกล่าวว่าเป็นเพราะตารางเวลาและความกังวลเรื่องโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

OR เปิดคาเฟ่ อเมซอน 2 สาขา ณ ประเทศมาเลเซีย ส่งมอบประสบการณ์และรสชาติกาแฟที่มีเอกลักษณ์แบบไทยสู่ต่างประเทศ

นางสาว ลิม ฮุย ยิง (YB Lim Hui Ying) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศมาเลเซีย และ นายรัชฎา จิวาลัย กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง พร้อมด้วย นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมกับผู้แทน บริษัท คาเฟ่ ฮับ จำกัด (Café Hub Sdn. Bhd.)

'เศรษฐา' ปลื้ม 'มาครง' หนุนสานต่อสัญญาการค้า ตั้งกรุ๊ป Whatapp ร่วม 'ฮุน มาเน็ต' ไว้หารือ

'เศรษฐา' เยือนฝรั่งเศส เผยเวลาน้อยแต่คุ้ม บอก 'มาครง' พร้อมหนุนสานต่อสัญญา การค้า-ท่องเที่ยว- EV-พลังงานสะอาด ช่วยอัปเกรดกองทัพไทยภายใน 10 ปี ยกฝรั่งเศสเป็นแม่แบบพลังงานสะอาดนำใช้ในไทย ปลื้มสตรีหมายเลข 1 สวมชุดแดงทักทาย แย้มแลกเบอร์โทรพร้อมตั้งกรุ๊ป Whatapp ร่วม 'ฮุน มาเน็ต' ไว้หารือ