ญี่ปุ่นประณามการบุกรุกน่านฟ้าของเครื่องบินจีน "ละเมิดอย่างร้ายแรง"

ญี่ปุ่นประณามการบุกรุกน่านฟ้าของจีนว่าเป็น "การละเมิดอย่างร้ายแรง" ต่ออธิปไตยของตน โดยระบุว่ารัฐบาลปักกิ่งกำลังคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ

เครื่องบินลาดตระเวน Y-9 ของกองทัพจีน ซึ่งกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นกล่าวว่าละเมิดน่านฟ้าของตนและได้ส่งเครื่องบินขับไล่ออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม (Photo by Handout / Japan's Ministry of Defense / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งการแสดงท่าทีแข็งกร้าวในข้อพิพาทเรื่องดินแดนล่าสุดกับฟิลิปปินส์ ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเริ่มรู้สึกโดนคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐในภูมิภาคนี้ กล่าวว่า ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นบินอย่างรวดเร็วหลังเครื่องบินลาดตระเวน Y-9 ลำหนึ่งรุกล้ำน่านฟ้าเป็นเวลา 2 นาทีเมื่อเวลา 11:29 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ นอกชายฝั่งหมู่เกาะดันโจในทะเลตะวันออก

ผ่านไปกว่า 24 ชั่วโมง จีนยังคงไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ โดยเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในช่วงบ่ายวันอังคารนี้ เพื่อหารือกับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนในหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงปัญหาทะเลจีนใต้ด้วย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนอาจต้องการตรวจสอบเครือข่ายป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่น โดยพยายามหาข่าวกรองและรวบรวมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สัญญาณเรดาร์และการรายงานข่าว เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังขยายความร่วมมือด้านการป้องกันภัยทางอากาศกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของรัฐบาลปักกิ่ง

โยชิมาสะ ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "การละเมิดน่านฟ้าของเราโดยเครื่องบินทหารของจีนไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดอธิปไตยของเราอย่างร้ายแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเราอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง"

"เราขอสงวนไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าเครื่องบินจีนกระทำการดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ใด อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางทหารของจีนที่ดำเนินใกล้ดินแดนญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวและมีความเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ" เขากล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน

หมู่เกาะดันโจที่ไม่มีคนอาศัยอยู่เป็นเพียงกลุ่มเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในทะเลตะวันออกนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และไม่ถือเป็นดินแดนที่เป็นข้อพิพาท

เรือของญี่ปุ่นและจีนเคยมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตึงเครียดในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะหมู่เกาะเซนกากุอันห่างไกลในทะเลตะวันออกที่ปักกิ่งอ้างสิทธิ์และเรียกเกาะเหล่านี้ว่าเตียวหยู

รัฐบาลโตเกียวรายงานว่ามีเรือของหน่วยยามฝั่งจีน, เรือรบ และแม้แต่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และยังเกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้งระหว่างเรือของหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นกับเรือประมงจีน

ตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ NHK เคยมีเหตุการณ์เครื่องบินที่ไม่ใช่ของกองทัพ 2 ลำจากจีน ได้แก่ เครื่องบินใบพัดและโดรนขนาดเล็ก ได้บุกเข้าไปในน่านฟ้าใกล้หมู่เกาะเซนกากุในปี 2555 และ 2560

ญี่ปุ่นซึ่งยึดมั่นในสันติภาพมานานหลายทศวรรษ ได้เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทั้งจัดหาความสามารถในการตอบโต้การโจมตีและผ่อนปรนกฎเกณฑ์การส่งออกอาวุธ

นอกจากนี้ รัฐบาลโตเกียวยังจัดหาเงินทุนและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เรือตรวจการณ์ ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค และเมื่อเดือนที่แล้วได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับฟิลิปปินส์ที่อนุญาตให้ส่งกำลังทหารไปยังดินแดนของกันและกันได้

ขณะที่รัฐบาลมะนิลาและปักกิ่งได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการเผชิญหน้าหลายครั้ง ล่าสุดเกิดขึ้นในน่านน้ำใกล้แนวปะการังซาบีนาที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเพียง 140 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนกว่า 1,000 กิโลเมตร

ปักกิ่งอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางการค้ามูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะตัดสินว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม

จีนส่งเรือไปลาดตระเวนในทะเลจีนใต้อย่างสม่ำเสมอ และได้สร้างเกาะเทียมที่ประจำการกำลังทหารเพื่อเสริมการอ้างสิทธิ์ของตน

กิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ถึงกับใช้คำเรียกจีนว่าเป็น “ผู้ก่อกวน” สันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด

นักรัฐศาสตร์จากสถาบันวิจัย RAND กล่าวว่า จีนอาจกำลังพยายามกดดันญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงพยายามทั้งป้องกันและร่วมมือกับจีนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความกังวลด้านความมั่นคงกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ.

เพิ่มเพื่อน