นายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางถึงกรุงเคียฟเมื่อวันศุกร์ เพื่อหารือกับประธานาธิบดียูเครน ในการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ที่มุ่งหวังผลักดันข้อตกลงยุติสงครามกับรัสเซีย
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย (Photo by Sergei GAPON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ไปยังกรุงเคียฟ เพื่อหารือกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ในประเด็นข้อตกลงยุติสงครามกับรัสเซีย
การเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรกที่เยือนยูเครน โดยโมดีมองว่าตนเองอาจเป็นผู้สร้างสันติภาพได้ระหว่างสองปีครึ่งที่รัสเซียรุกรานดินแดนยูเครน และไม่กี่สัปดาห์ที่ยูเครนเริ่มโจมตีตอบโต้อย่างหนักในดินแดนรัสเซีย
"ไม่มีปัญหาใดสามารถแก้ไขได้อย่างแท้จริงในสนามรบ" โมดีกล่าวก่อนการเยือนครั้งนี้ พร้อมเสริมว่าอินเดียสนับสนุนกระบวนการเจรจาและการทูตเพื่อฟื้นฟูสันติภาพและเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด
ความก้าวหน้าทางการทูตระหว่างรัฐบาลมอสโกและเคียฟดูห่างไกลความสำเร็จ หลังจากยูเครนเปิดฉากโจมตีภูมิภาคเคิร์สก์ทางตะวันตกของรัสเซีย
ยังไม่ชัดเจนว่าโมดีเองจะสามารถเป็นผู้ทำข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายได้จริงหรือไม่ เพราะยูเครนมองว่าเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียมากเกินไป
เมื่อไม่นานมานี้ โมดีเพิ่งถูกยูเครนประณามจากกรณีสวมกอดผู้นำรัสเซียระหว่างการเยือนกรุงมอสโกในเดือนกรกฎาคม
นายกรัฐมนตรีอินเดียกล่าวว่า เขาวางแผนที่จะแบ่งปันมุมมองสันติภาพเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งในยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่กับเซเลนสกี ตลอดจนหารือถึงการกระชับมิตรภาพระหว่างอินเดียและยูเครนไปด้วย
ทั้งนี้ โมดีเพิ่งเยือนโปแลนด์ในไม่กี่วันก่อนหน้าการเดินทางไปยังยูเครน ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า "ในฐานะเพื่อนและหุ้นส่วน เราหวังว่าสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคจะกลับมาโดยเร็ว"
ขณะที่เซเลนสกีกล่าวเช่นกันว่า อาจมีการลงนามในเอกสารหลายฉบับระหว่างการพบปะกับโมดี
การมาถึงของโมดีได้รับการประกาศโดยผู้ประกอบการรถไฟของยูเครน ซึ่งได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊กขณะผู้นำอินเดียลงจากรถไฟในกรุงเคียฟ
ต่อมาโมดีได้แจ้งการมาถึงว่า การเดินทางมายังเคียฟนั้นราบรื่นดี โดยชุมชนชาวอินเดียให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
แม้ว่าอินเดียจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียมาโดยตลอด แต่อินเดียยังพยายามสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับชาติตะวันตกเพื่อเป็นปราการต่อกรกับจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งในภูมิภาค
รัฐบาลนิวเดลีหลีกเลี่ยงการประณามการรุกรานของรัสเซียในปี 2565 มาตลอด และงดออกเสียงในมติของที่ประชุมสหประชาชาติที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมอสโก โดยอินเดียเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขความขัดแย้งผ่านการเจรจาโดยตรง
แต่ข้อตกลงสันติภาพดูเหมือนจะยังห่างไกลกว่าที่หลายฝ่ายคาดหวัง
ในปี 2565 ยูเครนได้ออกกฤษฎีกาที่ตัดการเจรจาโดยตรงกับรัสเซีย และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลมอสโกก็กล่าวว่าจะไม่ยอมรับการเจรจากับรัฐบาลเคียฟท่ามกลางการโต้กลับอย่างกะทันหันในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซีย
เมื่อต้นปี ปูตินเรียกร้องให้ยูเครนถอนทหารออกจากภูมิภาค 4 แห่งที่รัฐบาลมอสโกอ้างว่าได้ผนวกเข้าไว้แล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดก็ตาม โดยใช้เงื่อนไขนี้เป็นข้อตกลงเบื้องต้นในการเจรจา
รัฐบาลเคียฟกล่าวว่าการหยุดพักการสู้รบชั่วคราวจะทำให้รัฐบาลมอสโกมีเวลารวบรวมกำลังพลเพิ่มเติมและเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีขึ้นมาอีกในอนาคต
นอกจากนี้ การเดินทางทางการทูตครั้งล่าสุดของโมดีทำให้รัฐบาลเคียฟต้องออกมาประณาม
การเยือนมอสโกของเขาในเดือนกรกฎาคมเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 39 ราย และโมดีถูกถ่ายภาพขณะกอดปูตินที่บ้านพักในชนบทระหว่างการเดินทางครั้งนั้น ซึ่งดูแย่มากหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อีกทั้งอินเดียยังถูกกล่าวหาว่าได้ประโยชน์จากการรุกรานของรัสเซีย โดยรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากตลาดตะวันตก และกลายมาเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันดิบราคาถูกรายใหญ่ให้กับอินเดียแทน
การจัดการดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เหมือนเป็นการช่วยให้อินเดียประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้หลายพันล้านดอลลาร์ แลกกับการถูกประณามว่าสนับสนุนเงินทุนให้รัสเซียนำไปทำสงครามกับยูเครน
แม้ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของทั้งอินเดียและรัสเซียจะดูแนบแน่น แต่ก็มีความตึงเครียดจากความขัดแย้งเช่นกัน โดยอินเดียอ้างว่าพลเมืองของตนถูกหลอกใช้ให้ต่อสู้ร่วมกับทหารรัสเซียในแนวหน้าของสนามรบในยูเครน
รัฐบาลนิวเดลีได้กดดันให้รัฐบาลมอสโกส่งพลเมืองหลายคนของตนกลับประเทศ หลังสมัครทำงานสนับสนุนในกองทัพรัสเซีย แต่ถูกส่งไปสู้รบในภายหลัง โดยมีรายงานว่านักรบอินเดียอย่างน้อย 5 นายเสียชีวิตในสงคราม.