ศาลอินเดียสั่งจัดตั้งหน่วยงานความปลอดภัยทางการแพทย์ หลังเหตุฆ่าข่มขืนแพทย์หญิง

ศาลสูงอินเดียสั่งจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจระดับชาติเพื่อดำเนินการเสริมความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หลังแพทย์หญิงรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าอย่างโหดร้าย จนก่อให้เกิดการประท้วงลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันประท้วงกรณีการข่มขืนและฆ่าแพทย์หญิง ในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า การค้นพบศพของแพทย์หญิงวัย 31 ปีที่ถูกข่มขืนและฆ่าอย่างโหดร้ายในเมืองโกลกาตาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ทำให้เกิดความโกรธแค้นทั่วประเทศจากปัญหาความรุนแรงต่อสตรีที่ฝังรากลึกในสังคมอินเดีย

สมาคมแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐในหลายเมืองทั่วอินเดียได้หยุดงานประท้วงเข้าสู่สัปดาห์ที่สองแล้ว โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ตั้งชื่อเรียกแพทย์ที่ถูกฆ่าว่า "อภัยยา" ซึ่งแปลว่า "ไม่หวั่นไหว"

ล่าสุด กลุ่มผู้ประท้วงได้เดินขบวนไปตามเมืองโกลกาตา พร้อมถือป้ายเรียกร้องความยุติธรรมและความปลอดภัยในที่ทำงาน ในขณะที่ศาลสูงนิวเดลีได้ออกคำสั่งด่วนเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว

คณะผู้พิพากษา 3 คนระบุในคำสั่งว่า "ความโหดร้ายของการล่วงละเมิดทางเพศและลักษณะของอาชญากรรมได้สร้างความตกตะลึงให้กับจิตสำนึกของคนทั้งประเทศ"

"ศาลจึงออกคำสั่งให้จัดตั้งคณะทำงานระดับชาติซึ่งประกอบด้วยแพทย์ชั้นนำ เพื่อเตรียมวางแผนป้องกันความรุนแรงในสถานพยาบาลทั่วประเทศ และจัดทำระเบียบบังคับใช้เพื่อสร้างสภาพการทำงานที่ปลอดภัย" ศาลระบุ

ศาลกล่าวว่า จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติแล้ว

"ด้วยเกิดปัญหาเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพทั่วประเทศ ศาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

"การขาดมาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันในสถานพยาบาล ทั้งความรุนแรงทางกายภาพและความรุนแรงทางเพศต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง"

"เนื่องจากไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยเพียงพอหรือแทบไม่มีเลยที่จะรับรองความปลอดภัย ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์จึงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง" คำสั่งศาลระบุเพิ่มเติม โดยเน้นย้ำถึงการขาดกล้องวงจรปิด และความล้มเหลวในการคัดกรองอาวุธต่อผู้เข้ามายังโรงพยาบาล

ศาลระบุทิ้งท้ายว่า "เนื่องจากมีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆในแวดวงการทำงานทั้งด้านวิชาชีพและวิทยาศาสตร์ สังคมจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ อินเดียไม่สามารถยอมให้เกิดการข่มขืนหรือการฆาตกรรมได้อีกแล้ว"

ทั้งนี้ สื่ออินเดียรายงานว่าพบแพทย์ที่ถูกฆ่าในห้องสัมมนาของโรงพยาบาล ซึ่งบ่งชี้ว่าเธอไปที่นั่นเพื่อพักผ่อนสั้นๆ ระหว่างพักกะงานที่ยาวนาน 36 ชั่วโมง

ผลการชันสูตรพลิกศพยืนยันการล่วงละเมิดทางเพศ และในคำร้องต่อศาล พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตตั้งข้อสงสัยว่าลูกสาวของพวกตนอาจถูกข่มขืนหมู่

การประท้วงในหลายพื้นที่นำโดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ แต่ก็มีประชาชนอินเดียหลายหมื่นคนเข้าร่วมเรียกร้องด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แพทย์ยังเรียกร้องให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองกลาง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากการใช้ความรุนแรง และการทำงานหนักเกินไปจนขาดสุขอนามัย, โภชนาการ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ในอินเดีย ญาติๆ มักจะกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขละเลยหน้าที่เมื่อเกิดกรณีคนไข้เสียชีวิต และมักจะเกิดการใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ตามมาทันที เช่น กรณีพยาบาลคนหนึ่งในรัฐพิหารถูกครอบครัวของคนไข้ตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตจากการรักษา ผลักตกจากชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม.

เพิ่มเพื่อน