นายกฯญี่ปุ่นคิชิดะถอดใจ เตรียมลาออกเดือนหน้า

นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันพุธว่าเขาจะลาออกในเดือนหน้า ถือเป็นการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปีที่เต็มไปด้วยความตกต่ำทั้งเศรษฐกิจและคะแนนนิยม

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นแถลงต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม โดยคิชิดะได้ยืนยันแล้วว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคอีกในเดือนหน้า ซึ่งหมายความว่าเขาจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Photo by Philip FONG / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งในเดือนหน้า หลังสูญเสียความนิยมและล้มเหลวในหลายเรื่อง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำตลอดการบริหารงาน 3 ปี

ทั้งนี้ พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่ครองอำนาจบริหารประเทศมาอย่างยาวนาน มีกำหนดจัดการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเดือนหน้า โดยผู้ชนะจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคิชิดะกล่าวว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคอีก

"การเลือกตั้งหัวเรือใหญ่ครั้งนี้จำเป็นต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพรรคเสรีประชาธิปไตยกำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใหม่" คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโตเกียว

"การเลือกตั้งที่โปร่งใสและเปิดเผย ตลอดจนการดีเบตที่เสรีและเข้มข้นจึงมีความสำคัญสำหรับเรื่องนี้ ดังนั้นขั้นตอนแรกที่ชัดเจนที่สุดในการแสดงให้เห็นว่าพรรคเสรีประชาธิปไตยจะเปลี่ยนแปลงก็คือการที่ผมก้าวลงจากตำแหน่ง" ผู้นำญี่ปุ่นกล่าว

คิชิดะ วัย 67 ปี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และพบว่าคะแนนนิยมในตัวของเขาและพรรคเสรีประชาธิปไตยลดลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางรายได้ของประชาชน รวมทั้งการเผชิญเรื่องอื้อฉาวในหลายกรณี

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 คิชิดะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 17 ล้านล้านเยน (มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในขณะนั้น) เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากสภาวะเงินเฟ้อและเพื่อกอบกู้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาไว้ในอีกทางหนึ่ง

แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถทำให้เขาเป็นที่นิยมมากขึ้นเลย ทั้งในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและภายในพรรคของเขาเอง

สภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวญี่ปุ่นจำนวนมากโดยตรง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คนญี่ปุ่นไม่คุ้นเคยและไม่อาจยอมรับได้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงันและค่าเงินเยนก็ร่วงลงอย่างหนัก

แม้บทบาทต่างประเทศของคิชิดะจะได้รับเสียงชื่นชมมากมาย โดยเข้าข้างยูเครนอย่างเด็ดขาดตั้งแต่รัสเซียบุกรุกราน และด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จึงทำให้เกิดการผลักดันนโยบายป้องกันประเทศของญี่ปุ่นให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลจีน

เชื่อกันว่าบุคลิกความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของคิชิดะนั้นช่วยสร้างเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้เป็นอย่างดี

ในทางทฤษฎี คิชิดะอาจบริหารประเทศได้จนถึงปี 2568 และมีการคาดเดาว่าเขาอาจยุบสภาและประกาศเลือกตั้งใหม่อย่างกระทันหันในช่วงเวลาที่เขาได้เปรียบ

แต่สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า สมาชิกภายในพรรคเสรีประชาธิปไตยเชื่อว่าพรรคจะประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งภายใต้การนำของคิชิดะในเดือนเมษายนปีหน้า เพราะพรรคฯพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมมาตลอดสามครั้งหลังสุด

คิชิดะซึ่งรอดพ้นจากการประทุษร้ายด้วยระเบิดโดยไม่ได้รับบาดเจ็บเมื่อปีที่แล้ว ยังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการรับสินบนครั้งใหญ่ที่เชื่อมโยงกับการระดมทุนของพรรคฯ

โคอิจิ นากาโนะ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซเฟียกล่าวว่า การที่คิชิดะประกาศลาออกเพราะอาจรู้ตัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งศึกชิงตำแหน่งผู้นำ และอาจได้รับคำแนะนำจากผู้อาวุโสของพรรคฯ

มีการเสนอชื่อบุคคลหลายคนที่อาจเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง เช่น ทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล และซานาเอะ ทาคาอิจิ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

บุคคลอื่นๆ ได้แก่ ชิเงรุ อิชิบะ อดีตเลขาธิการพรรคฯ และชินจิโร โคอิซูมิ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ

นาโอฟูมิ ฟูจิมูระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเบกล่าวว่า เนื่องจากมีเรื่องอื้อฉาวเรื่องเงินระดมทุน คิชิดะจึงพยายามผลักดันทุกวิถีทางในการลดทอนกลุ่มที่มีอำนาจภายในพรรค ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าธรรมเนียมปฏิบัติของศึกชิงตำแหน่งผู้นำที่กำลังจะเกิดขึ้น

"เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปใกล้เข้ามาแล้ว สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกหัวหน้าพรรคที่ประชาชนชื่นชอบมากกว่า" นักวิเคราะห์กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เพราะเริ่มเบื่อหน่ายกับนักการเมืองอายุมากที่บริหารประเทศด้วยรูปแบบเดิมๆ และเต็มไปด้วยความอื้อฉาว.

เพิ่มเพื่อน