มูฮัมหมัด ยูนุสได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ ภายหลังสิ้นสุดประท้วงครั้งใหญ่ในบังกลาเทศ

มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์บังกลาเทศเจ้าของรางวัลโนเบล ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ หลังจากนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนาประกาศลาออกและหลบหนีออกนอกประเทศเพราะถูกกลุ่มผู้ประท้วงขับไล่ครั้งใหญ่

มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบล ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ

ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ซึ่งประกาศยุบสภาเมื่อวันอังคาร ได้ทำการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการโดยมียูนุสเป็นหัวหน้าที่ปรึกษา จากความเห็นพ้องของผู้นำกองทัพ และหัวหน้ากลุ่มนักศึกษาต่อต้านการเลือกปฏิบัติ (SAD) ซึ่งมีบทบาทในการประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนา จนต้องประกาศลาออกและหลบหนีออกนอกประเทศ

การแต่งตั้งดังกล่าวมีขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ผู้นำกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้ยูนุส วัย 84 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้นำ ขณะที่ยูนุสเองก็ยินดีที่จะรับหน้าที่นั้น

ตำแหน่งผู้นำรักษาการของยูนุสซึ่งได้รับการยกย่องว่าสามารถช่วยให้ผู้คนนับล้านในบังกลาเทศหลุดพ้นจากความยากจน จะเป็นเพียงแค่หัวหน้าที่ปรึกษา (Chief Advisor) เพื่อรับช่วงบริหารประเทศชั่วคราวก่อนการล้างไพ่การเมืองสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในอนาคต

แถลงการณ์อย่างเป็นทางการระบุว่า ประธานาธิบดีได้ขอให้ประชาชนช่วยกันฝ่าฟันช่วงเวลานี้ไปให้ได้ และการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งจำเป็นในการเอาชนะวิกฤตนี้ และเสริมว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถูกไล่ออกแล้วจากความบกพร่องในการปกป้องประชาชน

ทั้งนี้ ชีค ฮาซีนา วัย 76 ปี ดำรงตำแหน่งนายกฯยาวนานมาตั้งแต่ปี 2552 และถูกกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนมกราคม จนเป็นส่วนหนึ่งในแรงผลักดันให้ผู้คนนับล้านออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้เธอลาออก

มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายจากการเดินขบวนประท้วงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กองกำลังรักษาความมั่นคงพยายามระงับความโกลาหล แต่การประท้วงกลับรุนแรงขึ้น และในที่สุดฮาซีนาก็หนีออกนอกประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อวันจันทร์ หลังจากกองทัพแสดงจุดยืนอยู่ข้างประชาชน

พลเอกเวเคอร์-อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ กล่าวในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ของรัฐว่า ประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิต ถึงเวลาแล้วที่จะยุติหายนะครั้งนี้

บรรดาผู้นำกลุ่มนักศึกษาและนักการเมืองพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก คาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่อย่างเสรีภายใน 3 เดือน ซึ่งประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน และมูฮัมหมัด ยูนุสเองก็เห็นด้วย

ในส่วนของกองทัพที่เข้ายึดอำนาจจากฮาซีนา ได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งนายพลหลายนายเมื่อวันอังคาร โดยปลดนายพลบางคนที่ถือว่ามีความใกล้ชิดกับฮาซีนาออกไป รวมทั้งเซียอูล อาห์ซาน ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหาร Rapid Action Battalion

ขณะที่ คาเลดา เซีย วัย 78 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศจากพรรคบีเอ็นพีที่ในเวลานี้อยู่ในเรือนจำ ก็ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณในบ้านมาหลายปีเช่นกัน

ถนนหนทางในกรุงธากาส่วนใหญ่เงียบสงบในวันอังคาร โดยร้านค้าและเที่ยวบินระหว่างประเทศกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ แต่สำนักงานของรัฐบาลส่วนใหญ่ยังคงปิดให้บริการ

ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนหลั่งไหลลงสู่ท้องถนนเพื่อเฉลิมฉลองการจากไปของฮาซีนา และฝูงชนที่รื่นเริงยังบุกเข้าไปในรัฐสภาและเผาสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งปล้นสะดมบ้านพักทางการของเธอ ไปจนถึงทำลายรูปปั้นของชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน บิดาของเธอซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งอิสรภาพของประเทศ

ตำรวจกล่าวว่าฝูงชนได้เปิดฉากโจมตีล้างแค้นต่อพรรคพวกและพันธมิตรใกล้ชิดของฮาซีนา และยังบุกเรือนจำเพื่อปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 500 คนอีกด้วย

ธุรกิจและบ้านเรือนบางแห่งที่เป็นของชาวฮินดู ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่มองว่ามีความใกล้ชิดกับฮาซินา ก็ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน

วันจันทร์เป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 10 รายในวันอังคาร ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่อย่างน้อย 432 ราย ตามข้อมูลอ้างอิงจากตำรวจ, เจ้าหน้าที่รัฐ และแพทย์ในโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนของบังกลาเทศ รวมถึงนักการทูตสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานการโจมตีกลุ่มศาสนา, กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จนเลยเถิด โดยอินเดียและจีนซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรระดับภูมิภาคที่สำคัญของบังกลาเทศ ได้เรียกร้องให้มีการสงบสติอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายมากไปกว่านี้

ด้านฮาซีนาเองตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมที่แน่ชัด หลังจากหลบหนีไปถึงอินเดียเพื่อจะเดินทางต่อไปยังลอนดอน แต่การเรียกร้องของรัฐบาลอังกฤษให้มีการสอบสวนเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของเธอนั้น เป็นอุปสรรคต่อการลี้ภัยของเจ้าตัวจนถึงขณะนี้.

เพิ่มเพื่อน