กัมพูชาเปิดตัวคลองส่งน้ำเชื่อมแม่น้ำโขงกับทะเล

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดตัวโครงการขุดคลองมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมแม่น้ำโขงกับทะเล

พื้นที่ก่อสร้างหลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์คลองฟูนันเตโชในจังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม (Photo by Suy SE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชาเปิดตัวโครงการขุดคลองมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60,000 ล้านบาท) โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมแม่น้ำโขงกับทะเล

ในงานเปิดตัวโครงการที่แพรก ตาแก้ว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงพนมเปญ ฮุน มาเนตซึ่งเรียกโครงการความยาว 180 กิโลเมตรนี้ว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดอันเอิกเกริกไปด้วยผู้คน, ดนตรี และพลุดอกไม้ไฟ

งานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานหลายพันคนสวมเสื้อยืดที่มีรูปของนายกรัฐมนตรีมาเนตและฮุน เซน บิดาของเขาซึ่งปกครองประเทศมานานเกือบสี่ทศวรรษ

"เราต้องสร้างคลองนี้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม" มาเนตกล่าว เขาได้รับเสียงเชียร์ขณะเปิดตัวโครงการด้วยการกดปุ่มพิธีร่วมกับนางพิช จันมุณี ผู้เป็นภริยา

คลองฟูนันเตโชจะไหลไปบรรจบยังจุดหนึ่งบนแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1 ชั่วโมง ไปจนถึงทะเลอ่าวไทย และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2571

ปกติเรือสินค้าประมาณหนึ่งในสามที่เข้าและออกจากกัมพูชาใช้ท่าเรือของเวียดนามผ่านแม่น้ำโขง แต่ทางการหวังว่าตัวเลขนี้จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 10 เมื่อคลองสร้างเสร็จ

อย่างไรก็ตาม ความจุที่จำกัดของทางน้ำซึ่งมีความกว้าง 100 เมตร (328 ฟุต) และลึก 5.4 เมตร (17.7 ฟุต) ทำให้เกิดคำถามว่าจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สูงส่งนี้ได้หรือไม่

โครงการนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการขนส่งหรือการชลประทาน หรือใครจะเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน และจะส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำโขงอย่างไร

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนมานานแล้วว่าแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งรองรับปลาน้ำจืดที่จับได้มากถึงหนึ่งในสี่ของโลกและยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อผลผลิตข้าวของเวียดนาม ตกอยู่ในความเสี่ยงจากโครงการโครงสร้างพื้นฐาน, มลภาวะ, การทำเหมืองทราย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม และไทยเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ซึ่งควบคุมการกระจายทรัพยากรของแม่น้ำ

กัมพูชาได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เกี่ยวกับแผนการสร้างคลองดังกล่าวแล้ว แต่เวียดนามยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ

รัฐบาลพนมเปญโต้แย้งว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเท่านั้น ดังนั้นการแจ้งแผนการสร้างคลองจึงเพียงพอแล้ว

คลองฟูนันเตโชซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ถือเป็นโครงการระดับชาติที่จะกระตุ้นให้เกิดการยอมรับในตัวฮุน มาเนต ซึ่งเป็นบุตรชายและผู้สืบทอดอำนาจของเขา

ฮุน เซน กล่าวถึงคลองดังกล่าวว่าเป็นดั่งทางผ่านลมหายใจของประเทศ

รัฐบาลเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นทางเลือกแทนเรือขนส่งสินค้าที่ข้ามไปยังเวียดนามก่อนจะมุ่งหน้าสู่ทะเล ซึ่งจะทำให้กัมพูชาสามารถเก็บรายได้จากการขนส่งไว้ในประเทศได้

รัฐบาลระบุว่ากำลังวางแผนสร้างเขตเศรษฐกิจริมแม่น้ำตามเส้นทางดังกล่าว ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้กับประชากรได้หลายหมื่นตำแหน่ง และยกระดับกัมพูชาให้พ้นจากตำแหน่งประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมเส้นทางคลองดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเกี่ยวกับความทุกข์ใจของพวกเขาที่ต้องถูกเวนคืนบ้านเรือนในขณะที่การก่อสร้างกำลังดำเนินอยู่

ชาวบ้านบางคนที่อาศัยอยู่ใกล้คลองดังกล่าวกล่าวว่าไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเปิด โดยบอกว่าพวกเขาดูพิธีจากที่บ้านด้วยความรู้สึกที่ผสมปนเปกัน

"พวกเรารู้สึกทั้งดีใจและกังวล เพราะเราไม่ได้รับแจ้งเกี่ยวกับค่าชดเชยที่เหมาะสม" หญิงวัย 51 ปี ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

สอดคล้องกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการเวนคืนโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อย้ายถิ่นฐานโดยได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย

รองนายกรัฐมนตรีซุน จันทอล ผู้เป็นหัวหอกของโครงการดังกล่าว กล่าวในงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า คลองฟูนันเตโชจะช่วยเหลือประชาชน 1.6 ล้านคน และสร้างงานได้หลายพันตำแหน่ง

เขาสัญญาว่ารัฐบาลจะให้ "ค่าชดเชยที่ยุติธรรม" แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว บริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของจีนที่ให้ทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในกัมพูชา ตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กัมพูชาเปิดเผยว่าบริษัทของจีนจะให้ทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งในการขุดคลอง แต่ CRBC ยังไม่ได้เปิดเผยผลการศึกษาหรือให้คำมั่นสัญญาใดๆต่อสาธารณะ

แม้ว่ากัมพูชาจะเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับจีน แต่ฮุนเซนปฏิเสธว่าคลองดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนโครงสร้างพื้นฐานโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน

โครงการขุดคลองของกัมพูชาก่อให้เกิดความกลัวในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามว่า คลองดังกล่าวอาจถูกเรือรบจีนนำไปใช้

กัมพูชาและจีนจัดการซ้อมรบประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในเดือนพฤษภาคม โดยมีเรือรบจีนหลายลำและทหารหลายร้อยนายเข้าร่วม

ในเดือนธันวาคม เรือรบจีน 2 ลำได้ไปเยือนฐานทัพเรือกัมพูชาเป็นครั้งแรก ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าฐานทัพดังกล่าวอาจใช้เพื่อเพิ่มอิทธิพลของจีนในอ่าวไทย แต่เจ้าหน้าที่กัมพูชาก็ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าฐานทัพดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองท่าสีหนุวิลล์นั้น ไม่ได้ถูกใช้โดยมหาอำนาจต่างชาติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บึงกาฬ' ระทึก! น้ำโขงเพิ่มพรวดสูงสุดในรอบปี หลังฝนตกหนัก เขื่อนจีน-ลาวปล่อยน้ำ

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลจากมีมวลน้ำเหนือจากจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย ไหลลงมาสมทบกับมวลน้ำจากแม่น้ำสาขา ฝั่ง สปป.ลาว ประกอบกับจีนและ สปป.ลาว มีการปล่อยน้ำจากเขื่อน บ

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นจดหมายถึงนายกฯ หวั่นผลกระทบเขื่อนปากแบง

นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายกฯ รับฟังปัญหาชลประทาน ที่ดินทำกิน อ.เชียงแสน ชาวบ้านขอผ่อนปรนคนจีนข้ามแดน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค และพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

ยึดรายวันยาบ้าริมโขง ทหารพรานสกัดได้กว่า 2 แสนเม็ด

ที่กองร้อยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 2101 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี (ร้อย ทพ.2101 ฉก.21 กกล.ฯ) บ้านปากห้วยม่วง ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม พ.อ.อินทราวุธ ทองคำ ผบ.กรม ทพ.21/ผบ.ฉก.ทพ.21 ร.ท.วันชาติ