ผู้ประท้วงหลายแสนฝ่าฝืนเคอร์ฟิว บุกหานายกฯบังกลาเทศซึ่งล่าสุดหลบหนีแล้ว

ผู้ประท้วงชาวบังกลาเทศหลายแสนคนฝ่าฝืนกองกำลังความมั่นคงที่บังคับใช้เคอร์ฟิว เดินขบวนไปตามถนนในเมืองหลวงพร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ภายหลังความไม่สงบที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการชุมนุมเมื่อเดือนก่อน ล่าสุดนายกฯหญิงหลบหนีแล้ว

ตำรวจบังกลาเทศใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษา ในเมืองโบกุรา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาบังกลาเทศเพื่อประท้วงนโยบายจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล กลายเป็นเหตุบานปลายเป็นการปะทะกับตำรวจและปะทะกันเองกับกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลตั้งแต่เดือนที่แล้ว

การปะทะกันครั้งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ในกรุงธากา ผู้ประท้วงและผู้สนับสนุนรัฐบาลต่อสู้กันด้วยไม้และมีด ขณะที่กองกำลังความมั่นคงเข้าระงับเหตุด้วยการใช้กระสุนจริง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 14 นาย

ความรุนแรงที่บานปลายไปไกลในระดับสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศทำให้กองทัพบังกลาเทศต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ โดยผู้บัญชาการกองทัพฯจะกล่าวปราศรัยต่อประชาชนทั่วประเทศในเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

การชุมนุมที่เริ่มขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วได้ยกระดับกลายเป็นความไม่สงบครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงการปกครอง 15 ปีของนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนา และนำไปสู่การเรียกร้องให้เธอลาออก

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กองทัพได้ออกแถลงการณ์ว่า พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเสมอ

ก่อนหน้านี้ กองทัพเคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมกราคม 2550 หลังเกิดความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลายและได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่กองทัพให้การสนับสนุนเป็นเวลา 2 ปี

ล่าสุด รัฐบาลบังกลาเทศได้จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งสั่งปิดสำนักงานต่างๆ และโรงงานมากกว่า 3,500 แห่งซึ่งให้บริการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทหารและตำรวจพร้อมรถหุ้มเกราะในกรุงธากาได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นเส้นทางไปยังสำนักงานของนายกรัฐมนตรี และประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าฝูงชนจำนวนมากยังคงออกมาตามท้องถนนในเมืองหลวง และเดินหน้าทำลายสิ่งกีดขวางของเจ้าหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัว

สื่อมวลชนประมาณการว่าอาจมีผู้ประท้วงตามท้องถนนมากถึง 400,000 คนเลยทีเดียว

อาซิฟ มะห์มูด หนึ่งในแกนนำหลักของการเดินขบวนประท้วงกล่าวว่า "เรากำลังเรียกร้องให้นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศเดินขบวนไปที่ธากา ถึงเวลาแล้วสำหรับการประท้วงครั้งสุดท้าย"

ความรุนแรงนานหลายสัปดาห์ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตตั้งแต่การประท้วงเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 300 ราย ตามตัวเลขที่อ้างอิงจากตำรวจ, เจ้าหน้าที่รัฐ และแพทย์ในโรงพยาบาล

โวลเกอร์ เติร์ก หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า "ความรุนแรงที่น่าตกใจในบังกลาเทศต้องยุติลงโดยเร็วที่สุด"

อาลี ริอาซ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของบังกลาเทศกล่าวถึงความรุนแรงดังกล่าวว่าเป็น "การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลได้รับเอกราช และสถานการณ์ใกล้ถึงจุดวิกฤตเพราะนายกฯเองก็มีทีท่าว่าจะไม่ลาออก"

"นี่คือการลุกฮือของประชาชนในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยมาตรการใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ความดุร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ภักดีต่อระบอบการปกครองก็ไม่มีใครเทียบได้ในประวัติศาสตร์" ริอาซกล่าว

หลายกรณีในอดีต ทหารและตำรวจไม่ได้เข้ามาขัดขวางการประท้วงทุกครั้งไป ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมเมื่อเดือนที่แล้วที่จบลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไมเคิล คูเกลแมน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ในกรุงวอชิงตันกล่าวกับเอเอฟพีว่า "ผู้ประท้วงกำลังฮึกเหิมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเหมือนกำแพงที่กำลังปิดล้อมฮาซีนา เห็นได้ชัดว่าเธอกำลังสูญเสียการสนับสนุนและความชอบธรรมอย่างรวดเร็ว"

"การประท้วงที่มีความรุนแรงอย่างมาก ไม่เพียงมาจากความโกรธแค้น แต่ยังมาจากความมั่นใจที่รู้ว่ามีคนจำนวนมากในประเทศหนุนหลังการประท้วงครั้งนี้" คูเกลแมนกล่าว

พลเอกอิกบัล คาริม บูอิยัน อดีตผู้บัญชาการทหารบังกลาเทศกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า "รัฐบาลต้องถอนกองกำลังความมั่นคงทันทีและอนุญาตให้มีการประท้วง"

"ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการผลักดันให้ประชาชนของประเทศตกอยู่ในสภาพที่ทุกข์ยากแสนสาหัสเช่นนี้ จะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ" เขากล่าวโดยหมายถึงนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา

ขบวนการต่อต้านรัฐบาลได้ดึงดูดผู้คนจากทั่วสังคมในประเทศที่มีประชากรประมาณ 170 ล้านคนแห่งนี้ รวมถึงดาราภาพยนตร์, นักดนตรี และศิลปินคนดัง

ฮาซีนาปกครองบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2552 และได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สี่ติดต่อกันเมื่อต้นปี หลังการลงคะแนนเสียงโดยไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลของเธอใช้สถาบันของรัฐในทางที่ผิดเพื่อยึดอำนาจและปราบปรามผู้เห็นต่าง รวมถึงการสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

การประท้วงเริ่มต้นขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการกำหนดระบบโควตางานภาครัฐหลายแสนตำแหน่งให้กับกลุ่มเฉพาะซึ่งรวมถึงลูกหลานของวีรบุรุษจากสงครามปลดปล่อยประเทศเมื่อปี 2514 และการประท้วงก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆแม้ว่าระบบงานนี้จะถูกปรับลดโดยศาลสูงของบังกลาเทศแล้วก็ตาม

สถานการณ์ล่าสุด กลุ่มผู้ประท้วงบุกถึงทำเนียบนายกฯแล้ว ทำให้ชีค ฮาซีนาต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หลบหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย.

เพิ่มเพื่อน