กมลา แฮร์ริสเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกับโดนัลด์ ทรัมป์จากพรรครีพับลิกัน หลังได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาชิกพรรคฯ
กมลา แฮร์ริส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต (Photo by Brandon Bell / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า กมลา แฮร์ริสได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางเสียงสนับสนุนเอกฉันท์ในการเผชิญหน้ากับโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน
รองประธานาธิบดีหญิงวัย 59 ปี เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวในการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ตลอด 5 วันที่ผ่านมา จากจำนวนผู้แทนพรรคฯเกือบ 4,000 คน
แฮร์ริสเป็นผู้หญิงผิวสีจากเอเชียใต้คนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ และจะได้รับการเปิดตัวในงานประชุมพรรคฯที่ชิคาโกช่วงปลายเดือนนี้
แฮร์ริสกล่าวในการโทรศัพท์เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองของพรรคฯว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการสนับสนุนและประกาศว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้
"ดิฉันต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากทุกๆท่าน เราจะพูดคุยกับผู้คนเกี่ยวกับความจริงที่ว่าเราทุกคนอยู่ในสถานการณ์นี้ด้วยกัน และเรายืนหยัดร่วมกัน"
"ดังนั้น เรามาแจ้งให้ผู้คนทราบว่าแคมเปญของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคต และเกี่ยวกับการขยายสิทธิและเสรีภาพ และเป็นโอกาสให้ทุกคนไม่เพียงแค่ผ่านไปได้ แต่เพื่อก้าวไปข้างหน้า" แฮร์ริสกล่าว
สองสัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่โจ ไบเดนยุติเส้นทางการสานต่อตำแหน่งผู้นำสมัยสอง แฮร์ริสได้เข้าควบคุมพรรคอย่างเต็มที่ มีการทำลายสถิติการระดมทุนและดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จนคะแนนนิยมของเดโมแครตกลับมาสูสีกับรีพับลิกันอีกครั้ง
ปัจจุบันแฮร์ริสกำลังเตรียมตัวลงหาเสียงในสัปดาห์หน้าเพื่อชิงชัยใน 7 รัฐสำคัญร่วมกับผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย
การประชุมใหญ่ประจำปีนี้ซึ่งจัดขึ้นเร็วกว่าปกติและจัดขึ้นทางออนไลน์เนื่องจากกฎการลงทะเบียนของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป จะถือเป็นการเริ่มต้นเส้นทางสู่อำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการของเธอ โดยงานดังกล่าวจะเริ่มขึ้นที่ชิคาโกในวันที่ 19 สิงหาคม
ทั้งนี้ การรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ต้องพลิกผันภายหลังไบเดนวัย 81 ปี ถอนตัวจากการเป็นคู่แข่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และต้องวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อรับมือคู่แข่งคนใหม่ที่อายุน้อยกว่าเกือบ 20 ปีและเป็นผู้หญิง
แฮร์ริสผู้กระตือรือร้นเริ่มต้นบทบาทได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถระดมทุนสนับสนุนเข้าพรรคฯได้ 310 ล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมากกว่าที่ทรัมป์ทำได้ถึง 2 เท่า
เธอและว่าที่รองประธานาธิบดีมีกำหนดจะรณรงค์หาเสียงในวันอังคารที่เพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่มีจอช ชาปิโรเป็นผู้ว่าการรัฐและอยู่ในรายชื่อผู้ที่อาจได้รับเลือกให้ร่วมผนึกกำลังกับแฮร์ริสในการสู้กับคู่สมัครจากรีพับลิกัน
ไบเดนเคยเอาชนะทรัมป์ในเพนซิลเวเนียเมื่อปี 2563 ด้วยคะแนนเสียงราว 80,000 คะแนน และถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดในสมรภูมิต่อสู้ดุเดือดเพื่อแย่งชิงระบบคณะผู้เลือกตั้ง
รัฐเพนซิลเวเนียถือเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงสีน้ำเงินที่ช่วยให้ไบเดนได้เข้าไปนั่งในทำเนียบขาวปี 2563 ร่วมกับมิชิแกนและวิสคอนซินซึ่งเป็น 2 รัฐที่แฮร์ริสจะต้องโน้มน้าวฝูงชนในวันพุธ
แฮร์ริสจะเดินทางไปทั่วภูมิภาคของสหรัฐอเมริกาใต้เส้นขนานที่ 36 ซึ่งทอดยาวไปทางตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอันได้แก่ แอริโซนา, เนวาดา, จอร์เจีย และนอร์ทแคโรไลนา ในขณะที่เธอต้องรักษาฐานคะแนนเสียงของคนผิวดำและฮิสแปนิก (กลุ่มประชาชนผู้ใช้ภาษาสเปน) ที่ค่อยๆ ลดลงในระยะหลัง
หัวใจการรณรงค์หาเสียงของไบเดนมุ่งไปที่การรักษาเสถียรภาพประชาธิปไตยไว้ แต่แฮร์ริสกลับมุ่งเน้นไปที่การวางอนาคตและให้เสรีภาพแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเกณฑ์ในการรณรงค์หาเสียงของเธอ
นอกจากนี้ แฮร์ริสและทีมหาเสียงของเธอยังก้าวร้าวมากกว่าของไบเดนอีกด้วย โดยล้อเลียนทรัมป์ว่ากลับกลอกและผิดสัญญาหนีการดีเบตในเดือนกันยายน และกล่าวหาว่าผู้ต้องหาคดีอาญารายนี้เป็นคนโกงแก่ๆ และมีนิสัยประหลาด
ขณะเดียวกัน ทรัมป์และพรรครีพับลิกันของเขาต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับคู่ต่อสู้คนใหม่ รวมทั้งหาข้อมูลมากขึ้นเพื่อนำมาโจมตีแฮร์ริส โดยในตอนแรกเคยกล่าวหาว่าเธอมีแนวคิดเสรีนิยมที่เป็นอันตรายทั้งในเรื่องการย้ายถิ่นฐานและอาชญากรรม ก่อนจะเปลี่ยนมากล่าวหาเธออย่างเท็จๆ ว่าแสร้งทำตัวเป็นคนผิวดำที่ถูกกดขี่ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การเลือกตั้งใหม่ช่วยปกป้อง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จากการถูกตัดสินความผิดทางอาญา
รายงานของ แจ็ค สมิธ-เจ้าหน้าที่สืบสวนพิเศษ ได้รับการเผยแพร่เป็นบางส่วน ในรายงานดังกล่าวเผยให้เห็นว่าโดนัลด์ ทรัมป์ปลุกปั่นให้เกิด