ฝ่ายค้านเวเนซุเอลาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส

ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลาเรียกร้องให้มีการประท้วงในทุกเมืองทั่วประเทศวันเสาร์นี้ เพื่อประณามผลการเลือกตั้งที่ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโรอ้างชัยชนะแบบไม่โปร่งใส

ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ที่มีรูปของประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ถูกทำลายในรัฐคาราโบโบระหว่างการประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม (Photo by Yuri CORTEZ / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า มาเรีย คอรินา มาชาโด ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงในทุกเมืองทั่วประเทศในวันเสาร์นี้ เพื่อประณามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ไม่โปร่งใส

ประเทศละตินอเมริกาที่ร่ำรวยน้ำมันแห่งนี้ตกอยู่ในวิกฤตการเมืองหลังจากประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโรชิงประกาศว่าตนเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ก่อน แม้ผลการเลือกตั้งขัดกับผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งอย่างชัดเจน จนทั่วโลกออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใส

"เราต้องมั่นคง, จัดระเบียบ และระดมพลด้วยความภาคภูมิใจที่ประสบความสำเร็จในชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม และตระหนักว่าเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องชัยชนะอันบริสุทธิ์ของเรา" ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย

"ฉันอาจจะถูกจับกุมหลังเขียนข้อความเหล่านี้ แต่ก็หวังให้ผู้ที่ปฏิเสธอำนาจนิยมและสนับสนุนประชาธิปไตยได้เข้าร่วมกับชาวเวเนซุเอลาในอุดมการณ์อันสูงส่งของเรา" มาชาโดกล่าว

หนึ่งวันก่อนหน้า มาชาโดกล่าวว่าเธอต้องหลบซ่อนตัวด้วยความหวาดกลัว หลังประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งและมีการปะทะนองเลือดกับตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนในสัปดาห์นี้

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 รายจากการประท้วงที่ปะทุขึ้นหลังการเลือกตั้ง ตามคำกล่าวของมาชาโด ขณะที่มีผู้ถูกจำคุกมากกว่า 1,000 ราย

คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติซึ่งกำกับโดยรัฐบาลประกาศว่ามาดูโรชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 51% และตัวมาดูโรเองก็ยืนยันว่าเขามีหลักฐานอ้างอิงชัยชนะดังกล่าวและพร้อมนำมาแสดง

มาดูโรกล่าวเมื่อวันพุธว่า เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รุเทีย คู่แข่งในการเลือกตั้ง และมาเรีย คอรินา มาชาโด ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นพวกมือเปื้อนเลือดและสมควรระเห็จไปอยู่ในเรือนจำ เพราะเกี่ยวข้องกับการปลุกระดมประชาชนให้ใช้ความรุนแรงจนเกิดการสูญเสียชีวิต และเชื่อว่าบุคคลสำคัญฝ่ายค้านส่วนใหญ่กำลังหลบซ่อนตัวอยู่

ศาลสูงของเวเนซุเอลาได้เรียกตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งหมดมาฟังการพิจารณาคดีในช่วงบ่ายวันศุกร์ หลังจากที่มาดูโรร้องขอให้ศาลดำเนินการสอบสวนและรับรองผลการเลือกตั้ง

หลังจากความวิตกกังวลมาหลายวันจนถนนหนทางแทบจะร้างผู้คน ชีวิตปกติในเมืองหลวงการากัสก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยร้านค้าต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการเช่นเดียวกับระบบขนส่งสาธารณะ

แต่ความขัดแย้งระดับภูมิภาคกลับขยายตัวมากขึ้น โดยรัฐบาลเรียกตัวนักการทูตกลับจาก 8 ประเทศละตินอเมริกา และขอให้ทูตจากประเทศเหล่านั้นออกจากดินแดนของเวเนซุเอลา

ประธานาธิบดีอาร์เจนตินากล่าวว่า เจ้าหน้าที่การทูตของตนเดินทางออกจากเวเนซุเอลาแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี และขอบคุณบราซิลที่ช่วยดูแลสถานทูตให้แทน โดยปัจจุบัน นักการเมืองฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา 6 คนอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถานทูตอาร์เจนตินา

ด้านกระทรวงต่างประเทศของบราซิลประกาศว่า บราซิลจะเข้ารับหน้าที่เป็นตัวแทนทางการทูตของเปรูในเวเนซุเอลาด้วย ภายหลังเปรูประกาศยอมรับเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รุเทีย เป็นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลการากัสตัดความสัมพันธ์ทางการทูตทันทีและขับไล่เจ้าหน้าที่ออกจากประเทศ

สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเรียกร้องให้ทางการเวเนซุเอลาเปิดเผยข้อมูลการลงคะแนนเสียงโดยละเอียด โดยแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รุเทีย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ในแถลงการณ์ร่วม รัฐบาลของบราซิล, โคลอมเบีย และเม็กซิโกเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง และยังเรียกร้องให้รัฐบาลการากัสเผยแพร่ข้อมูลการลงคะแนนเสียงในแต่ละหน่วยเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์จัดขึ้นภายใต้เงาคำขู่ของมาดูโรว่าหากเขาแพ้การเลือกตั้ง จะเกิดการนองเลือดในประเทศ ท่ามกลางความวิตกอย่างกว้างขวางว่าอาจมีการโกงการเลือกตั้ง

อัยการสูงสุดของเวเนซุเอลากล่าวว่า มีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 1,000 คนจากการประท้วงที่ปะทุขึ้นในวันจันทร์และอังคารหลังการเลือกตั้ง

เขายังกล่าวอีกว่าเจ้าหน้าที่ทหารหนึ่งนายถูกสังหารและเจ้าหน้าที่ 77 นายได้รับบาดเจ็บ

ทั้งนี้ มาดูโรเป็นผู้นำมาตั้งแต่ปี 2556 และบริหารประเทศอย่างย่ำแย่จนจีดีพีลดลงถึง 80% ส่งผลให้พลเมืองเวเนซุเอลาที่เคยร่ำรวยกว่า 7 ล้านคนจากทั้งหมด 30 ล้านคนต้องอพยพออกจากประเทศไป

เขาถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจกักขังนักวิจารณ์และคุกคามฝ่ายตรงข้ามในบรรยากาศของระบอบเผด็จการที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนของมาดูโรในปี 2561 ถูกปฏิเสธจากหลายประเทศในละตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสมาชิกสหภาพยุโรป

การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่สร้างความเสียหายมาหลายปีไม่สามารถโค่นล้มประธานาธิบดีรายนี้ได้ เพราะเขาได้แรงหนุนอย่างมั่นคงจากผู้นำกองทัพ, องค์กรการเลือกตั้ง, ศาลยุติธรรม และสถาบันอื่นๆของรัฐ รวมถึงการสนับสนุนระดับประเทศจากรัสเซีย, จีน และคิวบา.

เพิ่มเพื่อน