'ข้อมูลเท็จ' ปั่นสถานการณ์ จากเหตุคนร้ายแทงเด็กในอังกฤษ สู่การจลาจลของคนในชาติ

เด็กรายอื่นๆร่วมวางดอกไม้ไว้อาลัยให้กับเด็กที่เป็นเหยื่อของเหตุสังหารด้วยอาวุธมีดในเมืองเซาท์พอร์ต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม (Photo by PETER POWELL / AFP)

ข้อมูลเท็จที่แชร์กันทางออนไลน์กลายเป็นประเด็นลบที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสหราชอาณาจักร หลังเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงจากการยุยงปลุกปั่นของฝ่ายขวาจัด ในกรณีเด็กกลุ่มหนึ่งถูกคนร้ายแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต

ผู้นำชุมชน, นักการเมือง และนักวิชาการต่างกล่าวโทษโซเชียลมีเดียว่าเป็นช่องทางของการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันเกี่ยวกับเหตุทำร้ายด้วยมีดทางตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งทำให้เด็ก 3 รายเสียชีวิต และอีก 5 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ปฏิกิริยาจากเหตุดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นในคืนวันต่อมา เมื่อบุคคลจากกลุ่ม English Defence League (EDL) ที่เป็นพวกฝักใฝ่แนวทางขวาจัด ได้ก่อจลาจลนานหลายชั่วโมงในเมืองเซาท์พอร์ตในเมอร์ซีย์ไซด์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุสลด

ตำรวจได้กล่าวโทษว่า กลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เมอร์ซีย์ไซด์หรือไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนในเมอร์ซีย์ไซด์เป็นผู้ก่อเหตุวุ่นวาย

มาร์ก โอเวน โจนส์ นักวิจัยด้านการโฆษณาชวนเชื่อและการแสดงความเกลียดชังกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้มีแนวโน้มว่าเกิดจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางออนไลน์

"ลักษณะเหตุที่เกิดแบบโศกนาฏกรรมกับเด็ก ทำให้คนส่วนใหญ่มีความรู้สึกอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ"

"เพราะผู้คนมีปฏิกิริยาต่อข่าวนี้ ดังนั้นข้อมูลใดๆไม่ว่าจริงหรือเท็จเกี่ยวกับข่าวดังกล่าวจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อข่าวแพร่กระจายไปทางออนไลน์ ก็หมายความว่าข่าวก็แพร่กระจายไปแบบออฟไลน์ด้วยเช่นกัน" นักวิจัยฯกล่าวกับเอเอฟพี

ผู้ก่อเหตุใช้มีดทำร้ายเด็กเป็นชายวัย 17 ปีซึ่งเกิดในเวลส์ ถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรมและพยายามฆ่า หลังจากไล่แทงคนที่งานเต้นรำธีมเทย์เลอร์ สวิฟต์ สำหรับเด็กเล็ก ในเมืองชายทะเลอันเงียบสงบใกล้กับเมืองลิเวอร์พูล

และเนื่องจากผู้ก่อเหตุยังคงเป็นเยาวชน ตำรวจจึงไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดอื่นๆ ของเขาได้ภายใต้กฎหมายอังกฤษ

ข้อมูลที่ขาดหายไปนี้ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการคาดเดาทางออนไลน์และข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบเกี่ยวกับตัวตน ความเชื่อ และภูมิหลังของเขา รวมถึงการอ้างว่าเขาเป็นมุสลิมหรือผู้อพยพ

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลทั้งหลายที่ไม่ได้กลั่นกรองทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์จึงถูกส่งต่อจนกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการก่อความวุ่นวายในลักษณะจลาจล

แพทริก เฮอร์ลีย์ ซึ่งเป็นส.ส.ในพื้นที่เกิดเหตุ กล่าวโทษการจลาจลซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายสิบนายว่าเกิดจากกระแสข่าวและโฆษณาชวนเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในโซเชียลมีเดียในรูปแบบ "พายุของข้อมูลเท็จ"

"มีบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่เปิดเผยตัวตนจำนวนมาก ซึ่งแต่งเรื่องเท็จเกี่ยวกับผู้ก่อเหตุ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในเซาท์พอร์ตจะกลายเป็นประกายไฟที่จุดชนวนให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลเท็จเพื่อต่อต้านชาวมุสลิมและผู้อพยพไปอีกหลายเดือน" เฮอร์ลีย์กล่าว

โพสต์ที่ชี้นำว่าผู้ก่อเหตุเป็นชาวมุสลิมหรือผู้อพยพ ได้รับการแชร์โดยบัญชีผู้ใช้จากกลุ่มขวาจัดที่มีการส่งต่ออย่างรวดเร็ว

โพสต์วิดีโอหนึ่งของทอมมี โรบินสัน อดีตผู้นำกลุ่ม EDL ซึ่งมีผู้เข้าชมเกือบ 15 ล้านคน ได้ระบุไว้ว่า "ผู้อพยพผิดกฎหมายเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายเด็ก"

แอนดรูว์ แชดวิก ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยลัฟโบโร ตั้งข้อสังเกตว่ามีการกล่าวอ้างเท็จบนเว็บไซต์ข่าวผิดกฎหมายที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียด้วย

"พวกเขาพยายามทำให้ดูเหมือนเป็นปฏิบัติการข่าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาคัดลอกและวางเรื่องราวจากแหล่งอื่นพร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงถ้อยคำเล็กน้อย และนำเสนอด้วยอคติแบบหวังผล" แชดวิกกล่าว พร้อมเสริมว่า กรณีนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "การแทรกแซงเชิงกลยุทธ์โดยผู้คน"

เช่นในเหตุการณ์นี้ ที่ผู้เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจยืนยัน ได้ใช้คำบอกเล่าของพยานในเหตุทำร้ายเด็กเพื่อปลุกปั่นกระแสแห่งความโกรธแค้นไปยังชาวมุสลิมหรือกลุ่มผู้อพยพอย่างที่ตนเองเชื่อและต้องการ เป็นการส่งเสริมวาระและความคิดเห็นเฉพาะของตนบนพื้นฐานของข้อมูลเท็จและอคติ

แชดวิกยังกล่าวโทษสมาชิกรัฐสภา เช่น ไนเจล ฟาราจ ที่ใช้ภาษาคลุมเครือ จนกลายเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับทฤษฎีสมคบคิดและคำกล่าวอ้างเท็จมากขึ้นไปอีก

หลังจากตำรวจสอบสวนเบื้องต้นและเปิดเผยว่าเหตุโจมตีในเซาท์พอร์ตไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ไนเจล ฟาราจได้โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียโดยตั้งคำถามว่า "ความจริงถูกปิดบังไว้จากเราหรือไม่" และคำถามดังกล่าวได้กลายเป็นการสร้างฐานความสงสัยต่อข้อมูลของตำรวจซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินคดี

อีเว็ตต์ คูเปอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษกล่าวว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องร่วมรับผิดชอบในการประณามการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ

ตัวอย่างข้อมูลเท็จอันหนึ่งที่ถูกเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดีย 'X' คือ ผู้ก่อเหตุมีชื่อที่ฟังดูเหมือนมุสลิม ทั้งๆที่ตำรวจท้องถิ่นชี้แจงก่อนเกิดการจลาจลว่าชื่อที่ถูกเปิดเผยนั้นไม่ถูกต้อง

"สิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการตอบสนองที่ล่าช้าของ X" แชดวิกกล่าว และเสริมว่าโพสต์บนบัญชีต่อต้านผู้อพยพ "EuropeInvasion" ยังคงให้ข้อมูลชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและอ้างว่าผู้ก่อเหตุเป็นชาวมุสลิมที่เดินทางทางเรือมายังอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้าชมมากถึง 1.4 ล้านครั้ง

ยังมีโพสต์อื่นๆ ที่แชร์รูปภาพของผู้ชายที่มีพื้นเพทางชาติพันธุ์ต่างกันและอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อเหตุ แต่ก็มีผู้ใช้บัญชีหลายรายนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อหักล้างข้ออ้างที่เป็นเท็จดังกล่าว

แชดวิกทิ้งท้ายว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องเลิกนิ่งเฉยและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

"ความผิดส่วนใหญ่อยู่ที่บริษัทโซเชียลมีเดียที่ไม่สนใจจะตรวจสอบคำพูดที่แสดงความเกลียดชังและข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์มของตนเอง" แชดวิกกล่าว.

เพิ่มเพื่อน