คณะรัฐประหารเมียนมาขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินอีก 6 เดือน

คณะรัฐประหารเมียนมาขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินอีก 6 เดือน พร้อมเลื่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่สัญญาว่าจะจัดขึ้นออกไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังมีภารกิจพัวพันในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร

แฟ้มภาพ พล.อ. มิน อ่อง หล่าย (ขวา) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเฉลิมฉลองวันกองทัพของประเทศ ในกรุงเนปยีดอ (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า คณะรัฐประหารเมียนมาประกาศขยายเวลาภาวะฉุกเฉินต่ออีก 6 เดือน พร้อมเลื่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่สัญญาว่าจะจัดขึ้นออกไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังมีภารกิจพัวพันในการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร

เมียนมาตกอยู่ในความโกลาหลนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นการยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมา 10 ปี และจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่และการปราบปรามผู้เห็นต่าง

สามปีครึ่งต่อมา คณะรัฐประหารกำลังดิ้นรนเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเมื่อไม่นานนี้ต้องประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หลายครั้งให้กับพันธมิตรของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ

"คณะทหารไม่สามารถจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ตามแผนเดิมหลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกตั้งแต่ 2 ปีก่อน เนื่องมาจากการก่อการร้ายที่ยังคงแทรกซึมในหลายพื้นทึ่ทั่วประเทศ" สถานีวิทยุโทรทัศน์ MRTV รายงาน

"สมาชิกสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศซึ่งประกอบไปด้วยคณะทหารทั้งหมด มีมติเอกฉันท์ที่จะขยายระยะเวลาการประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน" MRTV กล่าว

มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะทหารเป็นผู้เสนอให้ขยายระยะเวลาออกไป เพื่อเตรียมบัตรลงคะแนนที่ถูกต้องและแม่นยำสำหรับการเลือกตั้งที่คณะทหารสัญญาไว้ ซึ่งอาจเป็นในปี 2568

นอกจากนี้ การขยายระยะเวลายังมีความจำเป็นเพื่อดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรและเพื่อดำเนินการตามภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ร่างโดยกองทัพซึ่งคณะทหารกล่าวว่ายังคงมีผลบังคับใช้อยู่ รัฐบาลทหารจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 6 เดือนหลังการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน

กองทัพทำการรัฐประหารและยึดอำนาจด้วยการกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงในการเลือกตั้งปี 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

กองทัพได้ขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินหลายครั้งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะพัวพันการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย และกองกำลังป้องกันประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองทัพต้องพ่ายแพ้ในสนามรบหลายครั้งให้กับพันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือและตะวันตกของประเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) อ้างว่าได้ยึดเมืองล่าเสี้ยวทางตอนเหนือ ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญสู่จีน และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กองทัพทหารปฏิเสธการกล่าวอ้างนั้นโดยทันที

เมื่อเดือนมกราคม กองกำลัง MNDAA ยึดเมืองเล่าก์ก่ายใกล้ชายแดนเมียนมากับจีนได้สำเร็จ หลังจากทหารของคณะรัฐประหารราว 2,000 นายยอมจำนน ซึ่งถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของกองทัพในรอบหลายทศวรรษ

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารและการปะทะระหว่างกองทัพกับฝ่ายต่อต้าน ประชาชนกว่า 2.7 ล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ ตามข้อมูลของสหประชาชาติ

มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,400 รายและถูกจับกุม 27,000 คน จากการปราบปรามผู้เห็นต่างของคณะรัฐประหาร ตามข้อมูลของกลุ่มตรวจสอบในพื้นที่

แม้คณะรัฐประหารกล่าวว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2568 แต่บรรดานักวิจารณ์กล่าวว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลทหารจะไม่มีทางเสรีและยุติธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง“โมเดล”ดับไฟเมียนมา “ทักษิณ”พลิกธุรกิจสีเทาเข้าระบบ

ระดับแกนนำ“พรรคเพื่อไทย”ออกอาการอ้ำอึ้ง ไม่รู้ไม่เห็นกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ไปคุยกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา แต่สื่อตะวันตกต่างนำเสนอข่าวอย่างครึกโครม

‘ปานปรีย์’ ขีดเส้นชัดกองทัพทหารเมียนมาห้ามรุกล้ำอธิปไตยไทย

‘ปานปรีย์’ กำชับกองทัพทหารเมียนมา ห้ามรุกล้ำอธิปไตยและดินแดนไทย รวมทั้งห้ามมีลูกหลงการสู้รบมาฝั่งไทยด้วย เผย เตรียมประชุมวอร์รูมก่อนประชุม ครม. อังคารนี้ ก่อนนายกบินแม่สอด ติดตามสถานการณ์

'อองซาน ซูจี' ย้ายจากเรือนจำมากักบริเวณในบ้าน เหตุเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมาตั้งแต่ปี 2021 และอองซาน ซูจี-อดีตหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสั