ผู้นำฮามาสเสียชีวิตในอิหร่านจากการโจมตีของอิสราเอล

อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำกลุ่มฮามาสถูกสังหารจากการโจมตีของอิสราเอล ภายหลังเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่

อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาส (Photo by ANWAR AMRO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาส เสียชีวิตแล้วจากการโจมตีของอิสราเอลในอิหร่าน ทางกลุ่มฯแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ และประกาศกร้าวเอาคืน

การสังหารฮานีเยห์เกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ทางตอนใต้ของกรุงเบรุตเมื่อวันอังคาร และสังหารผู้บัญชาการระดับสูงของฮิซบุลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน โดยกลุ่มดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการโจมตีด้วยจรวดในที่ราบสูงโกลันที่เป็นเหตุให้เยาวชนเสียชีวิต 12 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กลุ่มนักรบชาวปาเลสไตน์ระบุในแถลงการณ์ว่า "อิสมาอิล ฮานีเยห์เสียชีวิตแล้วจากการโจมตีของกลุ่มไซออนิสต์ (อิสราเอล) ที่บ้านพักของเขาในกรุงเตหะราน หลังจากที่เขาเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่"

มูซา อาบู มาร์ซุก สมาชิกสำนักงานการเมืองของฮามาส ให้คำมั่นว่า กลุ่มฮามาสจะตอบโต้ต่อการกระทำขี้ขลาดในการลอบสังหารผู้นำฮานีเยห์ และเรื่องราวจะไม่จบลงเพียงแค่นี้แน่

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านร่วมประกาศถึงการสูญเสียดังกล่าว โดยระบุว่าบ้านพักของฮานีเยห์ในเตหะรานถูกโจมตี และเขาถูกสังหารพร้อมกับบอดี้การ์ดอีกคนหนึ่ง

"บ้านพักของอิสมาอิล ฮานีเยห์ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มต่อต้านอิสลามฮามาส ถูกโจมตีในเตหะราน และจากเหตุการณ์นี้ เขาและบอดี้การ์ดคนหนึ่งเสียชีวิต" กองกำลังฯระบุ

สื่ออิหร่านรายงานว่าการโจมตีที่ทำให้ฮานีเยห์เสียชีวิตเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่บ้านพักพิเศษสำหรับทหารผ่านศึกในเตหะรานตอนเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาพักอยู่

ทั้งนี้ ฮานีเยห์เดินทางไปยังเตหะรานเพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิบดีมาซูด ปีเซชเคียน ในวันอังคาร

ขณะที่กองทัพอิสราเอลปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ที่หลายฝ่ายชี้ว่าเป็นฝีมือของพวกเขา

ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ประณามการสังหารฮานีเยห์ว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาด และเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์สามัคคีกันต่อต้านอิสราเอล

เช่นเดียวกับรัสเซียและตุรเคียที่ประณามการสังหารฮานีเยห์ ขณะที่กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เรียกการสังหารครั้งนี้ว่าเป็นอาชญากรรมของผู้ก่อการร้าย

สงครามฉนวนกาซาที่ตอบโต้กันไปมาตลอด 10 เดือนทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียชีวิตรวมกันทะลุ 40,000 ราย โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลยังคงยึดมั่นในการทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก ขณะที่แนวรบได้ขยายตัวไปในประเทศและดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกับหลายกลุ่มติดอาวุธอิสลาม ทั้งกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน และกบฏฮูตีในเยเมน หรือแม้กระทั่งการโจมตีกับอิหร่านและอิรัก

อิสมาอิล ฮานีเยห์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าสำนักงานการเมืองของกลุ่มฮามาสในปี 2560 เพื่อสืบทอดตำแหน่งต่อจากคาเลด เมชาล

เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ในปี 2549 หลังกลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะอย่างพลิกความคาดหมายจากการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปีนั้น

ฮานีเยห์เป็นคนจริงจัง, ใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน และเดินทางไปมาระหว่างตุรเคียและกาตาร์เป็นประจำ

ในช่วงสงครามกับอิสราเอล เขาเดินทางไปทำภารกิจทางการทูตที่อิหร่านและตุรเคีย โดยได้พบปะกับประธานาธิบดีทั้งสองชาติ รวมทั้งพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำกลุ่มต่างๆ ในปาเลสไตน์ รวมถึงคู่แข่งทางการเมืองของกลุ่มฮามาสด้วย

ในปี 2530 เขาเข้าร่วมกลุ่มฮามาสซึ่งก่อตั้งขึ้นท่ามกลางการปะทุของอินติฟาดาหรือการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึดครองของอิสราเอล ซึ่งกินเวลานานจนถึงปี 2536

ฮามาสถือเป็น "แกนนำกลุ่มติดอาวุธ" ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านซึ่งจัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อต้านอิสราเอลในตะวันออกกลาง โดยอิหร่านได้ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในฐานะหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522

นอกจากนี้ อิหร่านยังร่วมยกย่องการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แต่ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ.

เพิ่มเพื่อน