บลิงเคนและออสตินหารือด้านกลาโหมกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์

รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา เป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้นในการรับมืออิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งในทะเลจีนใต้

(จากซ้ายไปขวา) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ, แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ, เอ็นริเก มานาโล รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ จับมือกันระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุม 2+2 ที่แคมป์อากีนัลโดในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า การเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง โดยข้อพิพาทดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าสหรัฐอเมริกาอาจถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งเนื่องมาจากสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันที่ทำไว้กับฟิลิปปินส์

ล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ปฏิบัติภารกิจอยู่ในเอเชียเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรในภูมิภาค ตามนโยบายต่อต้านอิทธิพลทางทหารและการทูตที่เพิ่มมากขึ้นของจีน

บลิงเคนและออสตินเริ่มต้นการเดินทางที่กรุงมะนิลาด้วยการประชุมกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ก่อนจะจัดการเจรจา "2+2" กับเอ็นริเก มานาโล รัฐมนตรีต่างประเทศ และกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์

นับเป็นครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา "2+2" ซึ่งบลิงเคนเปรียบว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ถึง "จังหวะกลองที่สม่ำเสมอและระดับการมีส่วนร่วมที่สูงมากระหว่างสองประเทศ"

พื้นที่ของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ใกล้น่านน้ำที่พิพาทกับจีนและอยู่ไม่ห่างจากเกาะไต้หวัน ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐอเมริกาหากเกิดความขัดแย้งใดๆขึ้น

ภายใต้สนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน ฟิลิปปินส์และสหรัฐจำเป็นต้องปกป้องอีกฝ่ายในกรณีที่เกิด "การโจมตีด้วยอาวุธ" ต่อเรือ, เครื่องบิน, ทหาร และหน่วยยามชายฝั่งในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันระบุว่ารวมถึงทะเลจีนใต้ด้วย

การกระทำของจีนในเส้นทางน้ำเชิงยุทธศาสตร์จึงเป็นหัวข้อสำคัญในวาระการประชุมเอเชีย-แปซิฟิกของบลิงเคน ซึ่งรวมถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลาว และการเจรจา "2+2" ในญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ใกล้กับสันดอนโธมัสที่สองในทะเลจีนใต้ที่เป็นพื้นที่พิพาท กะลาสีเรือชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งเพิ่งสูญเสียนิ้วโป้งจากการปะทะกับกะลาสีเรือยามชายฝั่งของจีนที่ใช้อาวุธมีด,ไม้ และขวานในการทำร้ายพวกเขา พร้อมยึดทำลายอุปกรณ์ของพวกเขา รวมทั้งปืนและเรือยาง เพื่อขัดขวางความพยายามของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ที่จะส่งเสบียงให้ทหารฟิลิปปินส์ที่ประจำการบนเรือร้างในพื้นที่ดังกล่าว

ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันใน "ข้อตกลงชั่วคราว" สำหรับการส่งอาหารและน้ำไปยังเรือเซียร์รามาเดร ซึ่งถูกยกขึ้นบกโดยเจตนาในปี 2542 เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลมะนิลาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหลังจากนั้นฟิลิปปินส์ได้ปฏิบัติภารกิจส่งเสบียงอีกครั้งและพบว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงและการปะทะกันแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน