'นิโคลัส มาดูโร' ครองตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 3 แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง

(นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แสดงอาการดีใจภายหลังรู้ผลการเลือกตั้งในการากัส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2024 – Photo by Juan Barreto / AFP)

ตามข้อมูลของหน่วยเลือกตั้ง นิโคลัส มาดูโร ผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเวเนซุเอลา ผลประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ (ตามเวลาท้องถิ่น) มาดูโรได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ 51.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ท้าชิงคนสำคัญของเขา เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รุเทีย จากพันธมิตรฝ่ายค้าน Plataforma Unitaria Democrática ได้คะแนนเสียง 44.2 เปอร์เซ็นต์

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 59 เปอร์เซ็นต์ ทั้งผู้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างระบุว่าตนชนะการเลือกตั้งในมุมมองของตน ผลสำรวจหลังการลงคะแนนเสียงของหลายสำนักชี้ไปที่ชัยชนะของกอนซาเลซ และฝ่ายค้านกล่าวว่ามีเหตุผลที่ควรเฉลิมฉลอง พวกเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประกาศอย่างเป็นทางการ มาเรีย โครินา มาชาโด-นักการเมืองฝ่ายค้านกล่าวว่า เวเนซุเอลามีประธานาธิบดีคนใหม่ คือ เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ

“เราชนะและคนทั้งโลกก็รู้” มาชาโดกล่าวในคืนวันเลือกตั้งว่า ฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียงสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มาดูโรได้คะแนนเสียงเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างถึงรายงานการนับคะแนนเสียงขององค์กรอิสระ

หน่วยเลือกตั้งในเวเนซุเอลาปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (วันจันทร์) อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว AFP รายงานว่ายังมีการลงคะแนนเสียงหลังจากเวลาปิดในหน่วยเลือกตั้งหลายแห่ง ประธานาธิบดีมาดูโรลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งจะดำรงตำแหน่งตามวาระ 6 ปี นักการเมืองวัย 61 ปีที่ได้ชื่อว่าเป็นมาร์กซิสต์ไม่ได้รับความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก เนื่องจากภายใต้การบริหารประเทศของเขาทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

กลไกอำนาจของมาดูโรในเวเนซุเอลานั้นพึ่งพากองทัพและตำรวจ ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนการลงคะแนนเสียงเขาเคยพูดหลายครั้งว่าจะไม่ยอมสละอำนาจหากเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขายังขู่ว่าจะมีการ “นองเลือด” ในกรณีที่เขาพ่ายแพ้

การเลือกตั้งของนิโคลัส มาดูโรในปี 2018 ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ และต่อมาได้มีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีมาดูโรถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจปราบปรามฝ่ายค้านในประเทศ ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากตำหนิมาดูโรสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในเวเนซุเอลาที่ร่ำรวยน้ำมัน ประเทศนี้เคยเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ยอดการผลิตในปี 2008 เคยสูงถึง 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาด การล่มสลายของราคาน้ำมัน และการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลลดลงเหลือน้อยกว่า 400,000 บาร์เรลในปี 2020 จนกระทั่งมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จีดีพีภายในประเทศของเวเนซุเอลาหดตัวลงร้อยละ 80 ภายในสิบปี และภาวะเงินเฟ้อรุนแรงทำให้สกุลเงิน ‘โบลิวาร์’ ของชาติไร้ค่าในทางปฏิบัติ ชาวเวเนซุเอลาประมาณหนึ่งในสี่ได้อพยพออกจากประเทศเพื่อหนีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง

หลังจากการลงคะแนนเสียง มาดูโรกล่าวว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของเขาคือ “ทางเลือกเดียวสำหรับสันติภาพ” เขาอธิบายระบบการเลือกตั้งในเวเนซุเอลาอีกครั้งว่าเป็น “ระบบการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้ โปร่งใส และเที่ยงธรรมที่สุดในโลก”

ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ได้มีตัวแทนของสหภาพยุโรป เนื่องจากหน่วยงานการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาเพิกถอนคำเชิญ เหตุเพราะมีมาตรการคว่ำบาตรส่วนตัวต่อตัวแทนของสภาการเลือกตั้งแห่งชาติ ตามรายงานของทางการปานามา อดีตประธานาธิบดีละตินอเมริกา 4 คนถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์เมื่อวันศุกร์

สหประชาชาติได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งไปร่วมสังเกตการณ์ แต่บทบาทของพวกเขายังมีจำกัด เนื่องจากหน่วยงานไม่ได้แถลงต่อสาธารณะเพื่อประเมินความคืบหน้าของการเลือกตั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชลน่าน’ ปูดมีขบวนการจ้องคว่ำ กม.ลูกวาระ 3 สร้างเดดล็อก กลับไปบัตรใบเดียว

หัวหน้าพรรค พท. ระบุมีขบวนการจ้องคว่ำกฎหมายลูกวาระ3 สร้างเดดล็อก นำไปสู่การแก้รธน. กลับไปบัตรใบเดียว ชี้ทำจริงวิกฤติแน่

ลุยเองก่อน สหรัฐ-อังกฤษหยุดนำเข้าน้ำมันรัสเซีย

รัฐบาลสหรัฐและอังกฤษประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียตอบโต้การรุกรานยูเครน "โจ ไบเดน" บอกจะไม่ปล่อยให้ยูเครนเป็นชัยชนะของ "วลาดิมีร์ ปูติน" สมาชิกคองเกรสจี้ยุโรปแบนนำเข้าพลังงานรัสเซียแล้วหันมาซื้อน้ำมันสหรัฐ