ไหนว่าป้องสิทธิมนุษยชน คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิของยูเอ็นมากกว่า 12 ราย เรียกร้องรัฐบาลสหรัฐปิดเรือนจำพิเศษที่คิวบาแห่งนี้เสียที ระบุคุกที่สหรัฐใช้ขังผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายโดยไม่มีการไต่สวนเป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เลิกรา"
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 11 มกราคม 2565 กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐจัดสร้างเรือนจำพิเศษที่ดูแลโดยกองทัพเรือสหรัฐในคิวบาแห่งนี้ขึ้นเพื่อกักขังผู้ต้องสงสัยใน "สงครามก่อการร้าย" ภายหลังอัลกออิดะห์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ในสหรัฐ และใช้จองจำผู้ถูกกักขังคนแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2545 ปัจจุบันยังมีผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายถูกกักขังอยู่ที่นี่ 39 คน จากที่เคยมีมากเกือบ 800 คน
วันจันทร์ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วยคณะทำงาน 2 ชุดด้านการบังคับบุคคลให้สูญหายและการกักขังตามอำเภอใจ และผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนอีก 5 คน มีแถลงการณ์จากนครเจนีวา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐปิดศูนย์กักขังที่อ่าวกวนตานาโมของคิวบาอัน "ฉาวโฉ่หาใดเปรียบ" แห่งนี้ แล้วส่งผู้ถูกกักขังที่เหลือกลับบ้าน หรือไปประเทศที่สามที่ปลอดภัย รวมถึงช่วยเยียวยาและชดใช้การถูกทารุณทรมานและกักขังตามอำเภอใจ
"20 ปีของการกักขังตามอำเภอใจโดยปราศจากการไต่สวนพิจารณาคดี ควบคู่ไปกับการทารุณทรมานหรือปฏิบัติอย่างเลวร้าย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ไม่ว่ากับรัฐบาลไหน โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน" ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้กล่าวในแถลงการณ์
และในฐานะสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็น จึงมีความสำคัญสำหรับสหรัฐเป็นการเฉพาะ ที่จะต้อง "ปิดบทอันน่าเกลียดของการละเมิดสิทธิอย่างไม่เลิกรา"
พวกเขายังโจมตีระบบยุติธรรมของสหรัฐที่ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและธำรงหลักนิติธรรม ที่เป็นเหตุให้หลุมดำทางกฎหมายเติบโตได้ในกวนตานาโม
"อ่าวกวนตานาโมเป็นสถานที่ฉาวโฉ่หาใดเปรียบ จำกัดความโดยการใช้การทารุณทรมานอย่างเป็นระบบ และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีของผู้ชายหลายร้อยคนที่ถูกพาตัวมาสถานที่นี้ และถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดของพวกเขา" คำแถลงกล่าว
ในกลุ่มคนที่ยังถูกกักขังในคุกกวนตานาโม 39 คนตอนนี้ มีบางคนถูกขังอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เดือนแรกๆ ที่คุกแห่งนี้เปิดใช้งาน และในจำนวนนี้ 13 คนได้รับอนุญาตให้ย้ายออกแล้ว แต่กระบวนการยังล่าช้าเพราะยังหาสถานที่ที่จะส่งตัวไปไม่ได้ หรือไม่ก็ยังไม่สามารถจัดการส่งกลับประเทศบ้านเกิดได้ อีก 14 คนกำลังพยายามหาทางปล่อยตัว โดย 10 คนอยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดี หรือไม่ก็รอการพิจารณาคดี และมี 2 คนถูกศาลตัดสินแล้ว
ผู้ที่ยังถูกขังอยู่จำนวนหนึ่งตกเป็นเป้าการทารุณทรมานของเจ้าหน้าที่สอบปากคำของซีไอเอในช่วงปีแรกๆ ของโครงการคุมขังหลังวินาศกรรม 11 กันยา.
ผู้เชี่ยวชาญคณะนี้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยยูเอ็น แต่ไม่ได้กล่าวในนามของยูเอ็น ยังชี้ด้วยว่า ระหว่างปี 2545-2564 มีผู้ถูกคุมขัง 9 คนเสียชีวิตที่นี่ โดยมีรายงานว่า 7 รายกระทำอัตวินิบาตกรรม และไม่มีใครถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีอาญาเลย
คำแถลงยืนกรานว่า พวกที่ให้อำนาจและดำเนินการทรมานผู้ที่ถูกกักขังในคุกกวนตานาโมควรต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. แนะแก้ปัญหาความเป็นอยู่ผู้ถูกควบคุมตัวของรัฐ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน
กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน
กสม. ชี้แผนก่อสร้างถนน ผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ละเมิดสิทธิชุมชน
กสม. ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวงชนบทมีแผนก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี ผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ชี้ละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ
กสม. ชี้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบประมงพื้นบ้าน ระบบนิเวศ
กสม. ชี้ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและระบบนิเวศทางทะเล แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข