กลุ่มฮามาสได้ส่งตัวแทนลงนามข้อตกลงในกรุงปักกิ่งกับองค์กรปาเลสไตน์อื่นๆ รวมถึงกลุ่มฟาตาห์ที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง ในการทำงานร่วมกันเพื่อ "เอกภาพแห่งชาติ" ภายใต้ข้อตกลงที่จะปกครองฉนวนกาซาร่วมกันเมื่อสงครามกับอิสราเอลสิ้นสุดลง
มูซา อาบู มาร์ซุก เจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มฮามาส (ขวา) ลงนามในข้อตกลงปรองดอง "ปฏิญญาปักกิ่ง" โดยมี หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน (กลาง) และมาห์มุด อัล-อลูล ตัวแทนจากกลุ่มฟาตาห์ เฝ้ามองจากทางด้านข้าง ณ บ้านพักรับรองเตียวหยูไถ ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม (Photo by Pedro PARDO / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า กลุ่มฮามาสส่งตัวแทนมายังกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อลงนามในข้อตกลงปรองดองกับองค์กรปาเลสไตน์อื่นๆ รวมถึงพรรคฟาตาห์ที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง โดยมีรัฐบาลปักกิ่งเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือครั้งนี้
จุดประสงค์ของการลงนามข้อตกลงเป็นไปเพื่อ "เอกภาพแห่งชาติ" ที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันปกครองฉนวนกาซาหลังสงครามกับอิสราเอลสิ้นสุดลง
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนซึ่งเป็นเจ้าภาพต้อนรับมูซา อาบู มาร์ซุก เจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มฮามาส, มาห์มุด อัล-อลูล ตัวแทนจากฟาตาห์ และตัวแทนจากกลุ่มชาวปาเลสไตน์อีก 12 กลุ่ม กล่าวว่า พวกเขาเห็นพ้องที่จะจัดตั้ง "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติชั่วคราว" เพื่อควบคุมฉนวนกาซาหลังสิ้นสุดสงคราม
"วันนี้เราลงนามในข้อตกลงเพื่อความสามัคคีของชาติ และเส้นทางสู่ความสำเร็จของการเดินทางนี้คือความมุ่งมั่นที่จะสร้างชาติด้วยความสามัคคีของทุกฝ่าย" เจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มฮามาสกล่าวหลังได้พบกับหวัง อี้ และตัวแทนคนอื่นๆ
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม 9 เดือนกับอิสราเอลในฉนวนกาซา ซึ่งชาวปาเลสไตน์สูญเสียชีวิตไปแล้วกว่า 39,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
การต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งของกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสส่งผลให้ฉนวนกาซาตกอยู่ในวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง
จีนพยายามที่จะมีบทบาทเป็นสื่อกลางในความขัดแย้งภายในซึ่งมีความซับซ้อน ระหว่างกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซา และกลุ่มฟาตาห์ซึ่งปกครองพื้นที่บางส่วนในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง
อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าพวกเขาจะทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก และมหาอำนาจโลกต่างก็แย่งชิงการนำเสนอรูปแบบการปกครองฉนวนกาซาเมื่อสงครามสิ้นสุดลง
แม้ไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงที่ประกาศในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคารจะสามารถผูกพันอย่างเป็นทางการได้หรือไม่ แต่ก็บ่งชี้ว่ามหาอำนาจโลกเพียงแห่งเดียวที่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคู่แข่งชาวปาเลสไตน์ได้คือจีน
ภายหลังการประชุมเมื่อวันอังคารสิ้นสุดลง หวัง อี้กล่าวว่า กลุ่มต่างๆ มุ่งมั่นที่จะปรองดองกันเพื่อชาติ
"ไฮไลท์ที่โดดเด่นที่สุดคือข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติชั่วคราวเพื่อการปกครองฉนวนกาซาหลังสงคราม" หวัง อี้กล่าว หลังจากกลุ่มต่างๆ ลงนามใน "ปฏิญญาปักกิ่ง"
"การปรองดองเป็นเรื่องภายในสำหรับกลุ่มต่างๆ ของปาเลสไตน์ แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งนี้จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ" หวัง อี้กล่าว
มาห์มุด อัล-อลูล ตัวแทนจากกลุ่มฟาตาห์กล่าวขอบคุณจีนสำหรับการสนับสนุนอย่างไม่สิ้นสุดต่อชาวปาเลสไตน์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงว่ามีการบรรลุข้อตกลงใดๆ กับกลุ่มฮามาสและกลุ่มอื่นๆ หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากอียิปต์, แอลจีเรีย และรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันอังคารด้วย
อียิปต์ ซึ่งมีอิสราเอลและฉนวนกาซาเป็นเพื่อนบ้าน ถือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคนสำคัญในความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่
แอลจีเรียเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเป็นผู้ร่างมติเกี่ยวกับสงครามดังกล่าว
ขณะที่รัสเซียยังคงมีบทบาทในความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับจีน แม้ถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติในประเด็นรุกรานยูเครน
หวัง อี้กล่าวว่า จีนกระตือรือร้นที่จะมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีการหยุดยิงถาวรที่ครอบคลุมและยั่งยืน เช่นเดียวกับความพยายามในการส่งเสริมการปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์ และการยอมรับรัฐปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ในสหประชาชาติ
ฮามาสและฟาตาห์เป็นคู่แข่งที่ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด นับตั้งแต่นักรบฮามาสขับไล่ฟาตาห์ออกจากฉนวนกาซาหลังได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งปี 2549
ส่วนฟาตาห์ได้มาตั้งฐานและควบคุมการบริหารบางส่วนในเขตเวสต์แบงก์ที่อิสราเอลยึดครอง
ความพยายามให้ปาเลสไตน์สองกลุ่มนี้ปรองดองกันล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง แต่เสียงเรียกร้องได้เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่สงครามกับอิสราเอลเริ่มต้น โดยนอกจากฉนวนกาซาจะเริ่มพังทลายแล้ว ความรุนแรงก็สร้างความเสียหายในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นที่ตั้งของฟาตาห์เช่นกัน
จีนเคยเตรียมการให้เกิดการนัดพบระหว่างฟาตาห์และฮามาสในเดือนเมษายน แต่การประชุมที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายนถูกเลื่อนออกไป จนมาสำเร็จล่าสุด
จีนสนับสนุนการแก้ปัญหาแบบสองรัฐต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และวางตัวเป็นกลางระหว่างคู่ขัดแย้งมากกว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
จีนพยายามที่จะมีบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเพิ่งทำตัวเป็นสะพานในการเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ประวัติศาสตร์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว.