บังกลาเทศจับกุมมากกว่า 500 คน เหตุนักศึกษาก่อความไม่สงบ

มีประชาชนมากกว่า 500 คน รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านบางส่วน ถูกจับกุมในกรุงธากาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไป 163 ราย ซึ่งบานปลายจากการประท้วงต่อต้านกฎเกณฑ์การจ้างงานภาครัฐของกลุ่มนักศึกษา

เจ้าหน้าที่กองทัพบังกลาเทศยืนเฝ้าใกล้อาคารรัฐสภาภายใต้การประกาศเคอร์ฟิวที่เกิดขึ้นหลังการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงนักศึกษาในกรุงธากา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาบังกลาเทศเพื่อประท้วงนโยบายจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล กลายเป็นเหตุบานปลายเป็นการปะทะกับตำรวจและปะทะกันเองกับกลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่าง

การปะทะกันทั่วประเทศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 163 ราย ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่มีจุดยืนแตกต่างกันได้ใช้ความรุนแรงจากอิฐ, ก้อนหิน และท่อนไม้ ในการประหัตประหารกัน จนตำรวจต้องสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

หลายสัปดาห์ของการชุมนุมเรียกร้องให้ยุติระบบโควตาสำหรับงานภาครัฐหลายแสนตำแหน่งที่สงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม ได้บานปลายเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่เลวร้ายที่สุดในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา วัย 76 ปี ซึ่งชนะการเลือกตั้ง 4 สมัยติดต่อกันเมื่อเดือนมกราคม หลังจากการลงคะแนนเสียงโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม

มีการประกาศเคอร์ฟิว และระดมกำลังทหารลาดตระเวนตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะที่อินเทอร์เน็ตที่ถูกตัดสัญญาณตั้งแต่วันพฤหัสบดี ได้จำกัดการไหลของข้อมูลออกสู่โลกภายนอกอย่างมาก

ฟารุค ฮอสเซน โฆษกตำรวจของกรุงธากา กล่าวกับเอเอฟพีว่า "มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 532 คน นับตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบเริ่มต้นขึ้น รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี)"

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ศาลสูงของบังกลาเทศได้พิพากษาระงับนโยบายจ้างงานดังกล่าวบางส่วน ทำให้สถานการณ์การประท้วงรุนแรงเบาบางลงทันที เพราะกลุ่มผู้เรียกร้องได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว

ล่าสุด กลุ่มนักศึกษาแกนนำได้ประกาศหยุดการประท้วงเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเคอร์ฟิว, ยกเลิกการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และหยุดปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษา

"เราเริ่มต้นการเคลื่อนไหวนี้เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบจ้างงานภาครัฐที่ไม่เป็นธรรม และไม่เคยต้องการให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อ, การสังหาร รวมไปถึงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมายเช่นนี้" นาฮิด อิสลาม ผู้นำการประท้วงบอกกับเอเอฟพีขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังถูกจับกุมและทุบตีโดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบเมื่อคืนวันอาทิตย์

อาลี ริอาซ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของบังกลาเทศกล่าวถึงความรุนแรงดังกล่าวว่าเป็น "การสังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลได้รับเอกราช"

"ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและทหารมุ่งปราบปรามโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน และการสังหารตามอำเภอใจเหล่านี้ไม่สามารถลบล้างได้ด้วยคำพิพากษาของศาลหรือประกาศของรัฐบาล" เขากล่าวกับเอเอฟพี

นักการทูตนานาชาติในกรุงธากาตั้งคำถามถึงการตอบสนองอย่างรุนแรงของทางการบังกลาเทศต่อการประท้วงดังกล่าวเช่นกัน ภายหลังรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวโทษผู้ประท้วงว่าเป็นต้นเหตุของความรุนแรง

ฮาซัน มาห์มุด รัฐมนตรีต่างประเทศได้เชิญบรรดาเอกอัครราชทูตมารับฟังการบรรยายสรุปเมื่อวันอาทิตย์ และเปิดวิดีโอความยาว 15 นาทีให้พวกเขาดู ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่าเน้นไปที่ความเสียหายที่เกิดจากผู้ประท้วง

แหล่งข่าวทางการทูตเสริมว่า มาห์มุดไม่ได้ตอบคำถามจากตัวแทนของสหประชาชาติเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าใช้ยานพาหนะและเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธที่มีเครื่องหมายสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการประท้วง

ทั้งนี้ บังกลาเทศเป็นประเทศตัวแทนของสหประชาชาติในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพทั่วโลก โดยได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากการปฏิบัติตนตามแนวทางขององค์การ และครอบครองอุปกรณ์ที่มีเครื่องหมายสหประชาชาติอยู่ในรายการทางการทหาร

บุคคลสำคัญของรัฐบาลกล่าวโทษผู้ประท้วงและนักการเมืองฝ่ายค้านซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรง

โฆษกตำรวจของกรุงธาการะบุว่า ตำรวจอย่างน้อย 3 นายถูกสังหารในเมืองหลวง และเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 1,000 นาย ในจำนวนนี้อย่างน้อย 60 นายมีอาการสาหัส

ส่วนนักการเมืองที่ถูกจับกุมมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่อาวุโสจากพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ, อดีตกัปตันทีมฟุตบอลระดับชาติที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง และเลขาธิการทั่วไปของพรรคอิสลามิสต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ 'Jamaat-e-Islami'

ตัวเลขของรัฐบาลระบุว่า ปัจจุบันคนหนุ่มสาวในบังกลาเทศราว 18 ล้านคนกำลังตกงาน และการปรับโควตาพิเศษกลับคืนสู่สภาพเดิมจะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาต้องเผชิญวิกฤติการจ้างงานอย่างรุนแรง

คำพิพากษาของศาลสูงได้ลดโควตางานที่สงวนไว้ให้กลุ่มเฉพาะจาก 56% ของตำแหน่งงานทั้งหมด เหลือเพียง 7% ซึ่งส่วนใหญ่จะยังคงจัดสรรไว้สำหรับลูกหลานของ "นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ" จากสงครามปลดปล่อยประเทศเมื่อปี 2514

แม้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะทำให้ตำแหน่งงานสงวนถูกดึงกลับไปจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงที่ต้องการยกเลิกกฏเกณฑ์ดังกล่าวโดยสิ้นเชิง

นักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่า ระบบโควตาของรัฐบาลนั้นเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาเยาวชนในกลุ่มที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา ขณะที่ตุลาการศาลในบังกลาเทศก็ถูกครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง.

เพิ่มเพื่อน