เจ้าหน้าที่กู้ภัยตรวจสอบจุดเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบิน มาเลเซีย แอร์ไลน์ที่บรรทุกผู้โดยสาร 298 คนจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปยังกัวลาลัมเปอร์ตกใกล้กับเมืองชัคตาร์ ทางตะวันออกของยูเครน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 (Photo by DOMINIQUE FAGET / AFP)
บรรดาญาติๆ รวมตัวกันในชุดดำใกล้กรุงอัมสเตอร์ดัมเมื่อวันพุธ เพื่อไว้อาลัยเนื่องในวันครบรอบ 10 ปีเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่ถูกยิงตกจนเสียชีวิตทั้งลำ ขณะที่ความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมค่อยๆเลือนราง
กาลเวลาเคลื่อนผ่านทศวรรษแล้ว แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการยิงเครื่องบินตกยังคงใช้ชีวิตอยู่นอกกรงขัง เนื่องจากรัสเซียปฏิเสธที่จะส่งตัวชาย 3 คนที่ถูกศาลดัตช์ตัดสินว่ามีความผิดจากการกระทำของพวกเขาในเหตุเครื่องบินตก เพื่อมาดำเนินคดี และเมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่สืบสวนระหว่างประเทศก็หยุดติดตามคดีดังกล่าวโดยระบุว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติม
บรรดาญาติและครอบครัวที่หลงเหลืออยู่จำนวนหลายร้อยคน ตลอดจนตัวแทนของรัฐบาลและบุคคลสำคัญ ซึ่งหลายคนแต่งกายด้วยชุดสีดำ เดินทางมาร่วมงานรำลึกที่อนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งใกล้ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮลซึ่งเป็นต้นทางของเที่ยวบิน MH17 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำนี้ก็ถูกยิงตกบริเวณน่านฟ้ายูเครนตะวันออกโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ BUK ที่ผลิตโดยรัสเซีย ขณะที่เครื่องบินแล่นตามเส้นทางบินมุ่งหน้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยผู้โดยสารทั้งหมด 298 รายเสียชีวิตยกลำ
พิธีรำลึกที่อนุสรณ์สถานดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติตั้งแต่เวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในขณะที่เมืองหลักหลายแห่งของเนเธอร์แลนด์ลดธงครึ่งเสาเพื่อร่วมไว้อาลัย
มีการอ่านแถลงการณ์และรายชื่อของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเหยื่อเหล่านั้นเป็นชาวดัตช์ 196 ราย, ชาวมาเลเซีย 43 ราย และชาวออสเตรเลีย 38 ราย
นอกจากนี้ พิธีรำลึกยังจัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆของโลกอีกด้วย เช่น พิธีในรัฐสภาออสเตรเลียซึ่งสมาชิกในครอบครัวร่วมวางดอกไม้และพวงหรีดทั้งน้ำตา โดยเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศบอกกับผู้มาร่วมงานว่า ออสเตรเลียจะกดดันให้รัสเซียรับผิดชอบต่อไปอย่างไม่ลดละ
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ศาลเนเธอร์แลนด์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแก่ชาย 3 คนที่ไม่มาปรากฏตัวต่อหน้าศาล ฐานก่อวินาศกรรมที่ทำให้เครื่องบินลำดังกล่าวตกเหนือดินแดนซึ่งถูกยึดครองโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมอสโก ในช่วงแรกของสงครามที่รัสเซียเข้ายึดคาบสมุทรไครเมีย
ผู้ต้องหาอิกอร์ เกอร์กินและเซอร์เกย์ ดูบินสกี ชาวรัสเซีย และลีโอนิด คาร์เชนโก ชาวยูเครน ต่างต้องรับผิดชอบต่อการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ BUK จากฐานทัพทหารในรัสเซียไปยังจุดที่ทำการยิงใส่เครื่องบิน แม้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ยิงขีปนาวุธด้วยตนเองก็ตาม ขณะที่โอเลก ปูตาลอฟ ผู้ต้องหาคนที่สี่ ได้รับการยกฟ้อง
แม้ทีมสืบสวนระหว่างประเทศหยุดติดตามคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่ข้อสรุปก่อนหน้าได้ระบุไว้ว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เป็นผู้อนุมัติการจัดหาขีปนาวุธที่ทำให้เครื่องบินตก
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเรียกร้องให้รัฐบาลมอสโกยอมรับความรับผิดและรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการคืนความยุติธรรมให้ผู้ตกเป็นเหยื่อ
"หลักฐานที่นำเสนอระหว่างการพิจารณาคดีแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบขีปนาวุธภาคพื้นสู่อากาศที่ใช้ในการยิงเที่ยวบิน MH17 ตกนั้น เป็นของกองทัพสหพันธรัฐรัสเซียอย่างไม่ต้องสงสัย" โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าว
รัฐบาลมอสโกปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้ต้องสงสัยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยกล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นผิดกฎหมายรัสเซีย ขณะที่สถานทูตรัสเซียในกรุงเฮกปฏิเสธความเกี่ยวข้องของตน แต่โบ้ยว่าเป็นความผิดของยูเครน
รัฐบาลมอสโกยังกล่าวหาเนเธอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ว่า "ถูกชี้นำโดยการพิจารณาทางการเมือง และแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อบังคับประชาคมโลกให้เชื่อว่าเครื่องบินตกเป็นฝึมือของรัสเซีย"
รัฐบาลเคียฟของยูเครนได้ออกมาโต้คำกล่าวหาของรัสเซีย และชี้ว่าเป็นรัสเซียเองที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง และขี้ขลาดเกินกว่าจะยอมรับ
"หลายปีผ่านไป รัสเซียยังคงดำเนินตามเส้นทางนองเลือดของตนโดยเปิดเผยต่อคนทั้งโลก และทำลายชีวิตผู้คนนับล้าน เห็นได้ชัดจากการรุกรานยูเครน"
"สงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นอยู่ในปัจจุบันทำให้เชื่อได้ยากจริงๆ ว่าพวกเขาคนใดคนหนึ่ง (ผู้ต้องสงสัย) จะได้รับโทษในสิ่งที่ก่อไว้ ไม่ว่าจะเร็วๆนี้หรือตลอดไป คงไม่มีวันได้เห็น" รัฐบาลเคียฟกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'วราวุธ' กำชับทีม พม. เชียงราย เยี่ยมให้กำลังใจ ครอบครัว น้องเหมย เหยื่อเครื่องบินตก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางการเกาหลีใต้ยืนยันว่า มีผู้โดยสารคนไทย 2 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินของเกาหลีใต้
อธ.อัยการ สคช.เผย อจ.คช.เชียงราย ยกคณะลงช่วยเหลือเเจ้งสิทธิกฎหมายเหยื่อเครื่องบินตกเกาหลี
30 ธ.ค.2567 - จากกรณีได้เกิดเหตุเครื่องบินที่เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเทศไทย ไปยังท่าอากาศยานมูอิน ประเทศเกาหลีใต้ ประสบอุบัติเหตุตกและออกนอกรันเวย์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น
“วราวุธ” ส่ง ทีม พม. อุดรธานี เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินตก เยียวยาสภาพจิตใจ-สิทธิสวัสดิการ
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยถึงกรณีที่มี 2 คนไทยเสียชีวิตในเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินของเกาหลีใต้ ประสบอุบัติเหตุระหว่างลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน หลังจากที่เดินทางออกจาก