นักศึกษาชาวบังกลาเทศไว้อาลัยเพื่อนร่วมชั้นที่ถูกสังหารในการประท้วงเรื่องนโยบายการจ้างงานภาครัฐ ขณะที่รัฐบาลสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศอย่างไม่มีกำหนด เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย
กลุ่มนักศึกษาต่อต้านนโยบายจ้างงานไม่เป็นธรรมของรัฐบาล และกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ได้ปะทะกันในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม (Photo by MUNIR UZ ZAMAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาบังกลาเทศเพื่อประท้วงนโยบายจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาล กลายเป็นเหตุบานปลายเป็นการปะทะกับตำรวจและปะทะกันเองกับกลุ่มนักศึกษาที่เห็นต่าง
การปะทะกันทั่วประเทศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อวันอังคาร ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่มีจุดยืนแตกต่างกันได้ใช้ความรุนแรงจากอิฐ, ก้อนหิน และท่อนไม้ ในการประหัตประหารกัน จนตำรวจต้องสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง
การปะทะล่าสุดถือเป็นเหตุรุนแรงที่สุดในรอบหลายสัปดาห์ของการชุมนุมเรียกร้องให้ยุติระบบโควตาสำหรับงานภาครัฐหลายแสนตำแหน่งที่สงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ฝ่ายค้านผสมโรงด้วยการกล่าวหาว่าพรรครัฐบาลจัดสรรงานที่ได้รับค่าจ้างพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกพรรคของตนเอง
ผู้ประท้วงราว 500 คนจัดพิธีศพในที่สาธารณะบริเวณมหาวิทยาลัยธากา โดยแบกโลงศพ 6 โลงที่ประดับด้วยธงชาติสีแดงและเขียว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนผู้ที่เสียชีวิตเมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า
แต่ตำรวจปราบจลาจลได้ปิดล้อมถนนรอบมหาวิทยาลัยด้วยลวดหนามและสกัดขบวนแห่ไว้หลังจากเริ่มขบวนได้ไม่นาน
"ตำรวจโจมตีเราด้วยแก๊สน้ำตาและระเบิดช็อตตอนที่เราเริ่มต้นการแห่" นาฮิด อิสลาม ผู้นำการประท้วงบอกกับเอเอฟพี พร้อมเสริมว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1 คน
ขณะที่สมาชิกฝ่ายนักศึกษาของพรรคสันนิบาตอาวามีที่เป็นพรรครัฐบาล ได้ปะทะกับผู้ประท้วงในช่วงสองวันก่อนหน้า ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 400 คนช่วงต้นสัปดาห์
"เมื่อมีนักศึกษาถูกสังหารเมื่อวานนี้ มันทำให้เกิดความโกรธแค้นครั้งใหญ่ที่ส่งผลเหมือนกับโดมิโนเอฟเฟกต์ โดยเริ่มจากนักศึกษาหญิงที่เริ่มต้นหาพวกที่ฝักใฝ่รัฐบาลและขับไล่นักศึกษากลุ่มอาวามีออกไปจากหอพักมหาวิทยาลัย จากนั้นนักศึกษาชายก็กระทำแบบเดียวกัน" อับดุลลาห์ โมฮัมหมัด รูเฮล นักศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธากา กล่าวกับเอเอฟพี
คนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยบอกกับเอเอฟพีว่า สมาชิกฝ่ายนักศึกษาทั้งหมดของพรรครัฐบาลถูกข่มขู่ให้ออกจากหอพัก และผู้ใดที่ขัดขืนก็จะถูกลากออกไป กลายเป็นการใช้ความรุนแรงที่เริ่มบานปลาย
ตั้งแต่ช่วงดึกของวันอังคาร รัฐบาลจึงได้แจ้งให้โรงเรียน, มหาวิทยาลัย และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามทุกแห่งในประเทศปิดทำการ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง และได้ส่งกองกำลังกึ่งทหารเข้าไปประจำการตามเมืองใหญ่หลายแห่งเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย
ในเวลาต่อมา ตำรวจได้บุกเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศใจกลางกรุงธากา และจับกุมสมาชิกฝ่ายนักศึกษาได้ 7 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เปิดเผยในภายหลังว่า ตรวจพบอาวุธเช่น ระเบิดมือ, น้ำมันเบนซิน, ท่อนไม้ และปืน ที่สำนักงานพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี)
นอกจากนี้รัฐบาลยังสั่งระงับแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กเพื่อตัดช่องทางการสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษา และไม่ต้องการให้มีการส่งต่อภาพความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปทั่วประเทศในวันพุธ โดยนักศึกษาหลายร้อยคนปิดเส้นทางรถไฟในเมืองนารายัณคัญช์ทางตอนกลาง และปิดกั้นทางหลวงด้านนอกเขตบาริซาลทางตอนใต้ จนตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม
"การประท้วงของเราจะดำเนินต่อไปไม่ว่าพวกเขาจะปล่อยความรุนแรงมาสู่เรามากเพียงใด" ชามอน ฟาริยา อิสลาม นักศึกษามหาวิทยาลัยธากา กล่าวกับเอเอฟพี
การเดินขบวนเกือบทุกวันในเดือนนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดกำหนดระบบโควตางานภาครัฐหลายแสนตำแหน่งที่ได้รับค่าจ้างพิเศษมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ ให้กับกลุ่มเฉพาะซึ่งรวมถึงลูกหลานของวีรบุรุษจากสงครามปลดปล่อยประเทศเมื่อปี 2514
นักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่า โครงการนี้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชีค ฮาซีนา วัย 76 ปี ซึ่งชนะการเลือกตั้ง 4 สมัยติดต่อกันเมื่อเดือนมกราคม หลังจากการลงคะแนนเสียงโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม
"หากคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในบังกลาเทศในปัจจุบัน คุณจะรู้ว่าอนาคตของคุณมีความไม่แน่นอนที่อันตรายเพียงใด" อาซิฟ ซาเลห์ ผู้อำนวยการ BRAC ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ กล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย
แอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต่างประณามการปะทะกันในสัปดาห์นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลของฮาซีนาอย่าปราบปรามผู้ที่ประท้วงอย่างสันติ เช่นเดียวกับสหประชาชาติที่เรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศปกป้องผู้ประท้วงจากภัยคุกคามหรือความรุนแรงทุกรูปแบบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปธ.วิปรัฐบาล' ลั่นไม่มีหน้าที่ตามจับ 'พล.อ.พิศาล' โวย 'โรม' ปั่นกระทู้ปลุกแตกแยก
'วิสุทธิ์' บอกไม่รู้ตอนนี้ 'พิศาล' อยู่ไหน วิปรัฐบาลไม่มีหน้าที่ตามจับใคร ยันไม่ได้ปกป้อง แต่ไม่มีใครใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ข้องใจ 'โรม' ตั้งกระทู้ปั่นในสภาฯ เพื่ออะไร หวั่นจุดชนวนแตกแยก