กาเบรียล แอตทาลลาออกจากตำแหน่ง แต่ยังคงรับหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงยอมรับการลาออกของกาเบรียล แอตทาล แต่เขาจะยังคงทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสต่อไป จนกว่ารัฐสภาจะตั้งรัฐบาลใหม่

กาเบรียล แอตทาล ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ที่ทำเนียบประธานาธิบดีเอลิเซในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม (Photo by Ludovic MARIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า การเมืองฝรั่งเศสยังคงติดหล่มแม้สิ้นสุดการเลือกตั้งทั่วไปมาหลายวันแล้ว แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถจับมือตั้งรัฐบาลใหม่กันได้เลย

ล่าสุด ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสยอมรับการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของนายกรัฐมนตรีกาเบรียล แอตทาล ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อไปในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส

การเมืองฝรั่งเศสอยู่ในภาวะหยุดชะงักนับตั้งแต่การเลือกตั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปเมื่อต้นเดือนนี้ โดยพรรคการเมืองในรัฐสภาต่างแย่งชิงกันเพื่อรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลผสม

แอตทาลเสนอตัวเป็นคนประสานงานให้ทุกฝ่ายร่วมคุยกันเพื่อผ่าทางตันให้เกิดรัฐบาลชุดใหม่และหลุดพ้นภาวะสุญญากาศ พร้อมยืนยันว่าเขาไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว และจะทำหน้าที่ประคองคณะทำงานในการขับเคลื่อนประเทศเพียงชั่วคราวเท่านั้น

แม้จะประกาศลาออกและยุบรัฐบาลเดิมไปแล้ว แต่แอตทาลและสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะสามารถนั่งในรัฐสภาเพื่อทำงานต่อไปได้ รวมทั้งขับเคลื่อนการหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไปพร้อมๆกัน

ก่อนหน้านี้ มาครงบอกกับบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลชุดเดิมว่า เขาจะขอให้แอตทาลอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกหลายสัปดาห์ อย่างน้อยก็ให้ผ่านพ้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้เสียก่อน ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองสายกลางของเขามีเวลามากขึ้นในการหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพันธมิตรฝ่ายซ้ายซึ่งได้ที่นั่งมาเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม

พรรคแนวร่วมนิยมใหม่ (NFP) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวบรวมกลุ่มสังคมนิยม, กลุ่มกรีน, กลุ่มคอมมิวนิสต์ และกลุ่มฝรั่งเศสไม่ยอมก้มหัว ได้มา 193 ที่นั่งจากจำนวนทั้งหมด 577 ที่นั่ง

ขณะที่พันธมิตรสายกลางของมาครงตามมาเป็นอันดับสองด้วยจำนวน 164 ที่นั่ง และพรรครณรงค์แห่งชาติขวาจัดตามมาเป็นอันดับสามด้วยจำนวน 143 ที่นั่ง

แต่กลุ่มการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งกลับมีปัญหาภายในกันเสียเอง เมื่อแต่ละก๊วนไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะผลักดันผู้ใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะต่างฝ่ายต้องการให้คนของตนได้รับการเสนอชื่อ นั่นทำให้ยังไม่มีตัวแทนเอกฉันท์จากฝั่งซ้าย ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยังเปิดกว้างสำหรับพรรคอันดับสองและสาม

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อูแกตต์ เบลโล วัย 73 ปี อดีตสมาชิกรัฐสภาคอมมิวนิสต์และประธานสภาภูมิภาคในลา เรอูนียง ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส จากกลุ่มฝรั่งเศสไม่ยอมก้มหัวและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆ กับลอร็องซ์ ตูเบียนา วัย 73 ปี นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง จากกลุ่มสังคมนิยม, กลุ่มกรีน และกลุ่มคอมมิวนิสต์ ได้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดเพื่อตำแหน่งดังกล่าว แต่ก็ยังหาบทสรุปไม่ได้

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองระบุว่า มาครงจะใช้ช่องว่างความขัดแย้งนี้ในการรวบรวมเสียงจากพรรคอิสระอื่นๆที่ปรารถนาในการมีส่วนร่วมจัดตั้งรัฐบาลสายกลาง และเขี่ยทั้งฝ่ายซ้าย-ขวาให้ตกขอบ อันจำเป็นอย่างมากต่อการบริหารของมาครงซึ่งเตรียมสานต่อนโยบายรักษาความสำเร็จทางเศรษฐกิจ และพลิกฟื้นความยุติธรรมทางสังคม

ทั้งนี้ มาครงยังมีเวลาเกือบ 3 ปีในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 ซึ่งอาจได้คู่แข่งหน้าเดิมอย่างมารีน เลอ เปน ผู้นำขวาจัด

รัฐสภาฝรั่งเศสจะเปิดการประชุมอีกครั้งในวันพฤหัสบดี และจะเริ่มการบรรจุตำแหน่งโฆษกสภาแห่งชาติและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ โดยไม่มีวาระการเลือกนายกรัฐมนตรี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จลาจลหนักในหลายเมืองของฝรั่งเศสหลังการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ

จากการเฉลิมฉลองผลการเลือกตั้งอย่างสันติได้ลุกลามไปสู่ความรุนแรงในหลายพื้นที่ของฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ป