โดนัลด์ ทรัมป์ถูกยิงเฉียดหูจากความพยายามลอบสังหารโดยมือปืนรายหนึ่งในงานหาเสียงเมื่อวันเสาร์ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ชุลมุนวุ่นวายน่าตกใจและยิ่งเพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันถูกนำตัวลงจากเวทีหาเสียงในสภาพเลือดเปื้อนหน้า และรายล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับ ในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังถูกลอบยิงจากมือปืนรายหนึ่งที่ถูกวิสามัญทันทีในที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม (Photo by Rebecca DROKE / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า มือปืนรายหนึ่งบุกกราดยิงในงานหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
อดีตประธานาธิบดีวัย 78 ปีรายนี้ถูกนำตัวลงจากเวทีทันทีโดยมีเลือดไหลเต็มใบหน้าหลังถูกยิงเข้าที่หูขวา ขณะที่มือปืนและผู้มาร่วมงานอีก 1 คนเสียชีวิต และมีผู้มาร่วมงาน 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันยกกำปั้นต่อฝูงชนเพื่อยืนยันว่าเขายังปลอดภัยดีขณะถูกนำตัวลงจากเวที และกล่าวในภายหลังว่า "ผมถูกยิงด้วยกระสุนที่เจาะส่วนบนของหูขวา"
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งมีกำหนดเผชิญหน้ากับทรัมป์ในการเลือกตั้งที่มีการแบ่งขั้วอย่างดุเดือดช่วงเดือนพฤศจิกายน กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเป็นเรื่องปกติในดินแดนสหรัฐอเมริกาที่ไม่เคยยอมรับการใช้ความรุนแรง และมีการเปิดเผยว่าไบเดนต่อสายหาทรัมป์เพื่อพูดคุยและถามไถ่ในสิ่งที่เจอมา
บุคคลสำคัญทางการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาและบิล คลินตัน ต่างประณามการโจมตีดังกล่าว เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ที่สนับสนุนทรัมป์ให้ยืนหยัดสู้ต่อไป
เอฟบีไอสามารถระบุตัวตนมือปืนก่อเหตุที่ถูกยิงเสียชีวิตได้แล้ว ชื่อนายโทมัส แมทธิว ครูกส์ วัย 20 ปี จากเบเธลพาร์ค รัฐเพนซิลวาเนีย และกำลังสอบสวนหาแรงจูงใจจากการกระทำอุกอาจดังกล่าว
หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐระบุก่อนหน้านี้ว่า มือปืนรายดังกล่าวลั่นไกออกมาหลายนัดโดยเล็งไปยังเวที จากตำแหน่งที่อยู่สูงนอกพื้นที่จัดงาน ก่อนถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่
ภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ต่อๆกันแสดงให้เห็นศพของคนร้ายนอนอยู่บนหลังคาลาดเอียงของอาคารเตี้ยๆ จากจุดที่เขาลั่นไกยิง ขณะผู้คนที่มาชุมนุมในงานหาเสียงของทรัมป์ส่งเสียงกรีดร้องด้วยความตื่นตระหนก
เอฟบีไอยืนยันในงานแถลงข่าวภายหลังว่า เหตุกราดยิงดังกล่าวถือเป็น "ความพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" และเชื่อว่ามือปืนก่อเหตุเพียงลำพัง
พยานผู้เห็นเหตุการณ์หลายคนให้ข้อมูลคล้ายกันว่า พวกเขาเห็นมือปืนก่อนก่อเหตุและได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการใดต่อหรือไม่
ก่อนโดนลอบยิง ทรัมป์เพิ่งเริ่มปราศรัยในการชุมนุมครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เขาทำหน้าบิดเบี้ยวและเอามือจับที่หู โดยมีเลือดไหลออกจากใบหูและแก้ม จากนั้นเขาทิ้งตัวลงกับพื้น ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับรุดขึ้นไปบนเวที และพาเขาลงมาเพื่อนำขึ้นยานพาหนะที่จอดรออยู่ในบริเวณงาน
"เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่การกระทำดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นในประเทศของเราได้ ผมรู้ได้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นหลังได้ยินเสียงปืน และรู้สึกถึงกระสุนที่ทะลุผิวหนังทันที มีเลือดไหลออกมา แล้วผมก็แทบไม่รู้สึกอะไรหลังจากนั้นอีกเลย" ทรัมป์กล่าวผ่านโซเชียลมีเดียในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และยืนยันว่าเขาปลอดภัยดี
ตำรวจยืนยันว่า ผู้มาร่วมงานเพศชายรายหนึ่งเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและมีชายอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุกราดยิง
การลอบสังหารครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก โดยผู้นำของอังกฤษ, อิสราเอล, ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ต่างแสดงความกังวลต่อวิกฤตความรุนแรงที่ส่งผลจากแรงผลักดันทางการเมือง
ไบเดนยกเลิกกำหนดการพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์ และกลับไปยังทำเนียบขาวทันที เพื่อรับการบรรยายสรุปล่าสุดจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคง
เหตุการณ์อุกอาจนี้ได้จุดชนวนความตึงเครียดทางการเมือง โดยสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนชี้ว่าเป็นเพราะวาทกรรมของไบเดนและทฤษฎีสมคบคิดของฝ่ายขวา นำไปสู่การโจมตีทรัมป์โดยตรง
ทรัมป์ได้รับการตรวจอย่างละเอียดว่าไม่มีอาการใดเป็นภัยต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้นเขาจะสามารถไปรณรงค์หาเสียงต่อได้ และจะเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันในเมืองมิลวอกี
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีประวัติความรุนแรงทางการเมืองอยู่หลายครั้ง โดยมีประธานาธิบดี, อดีตประธานาธิบดี และผู้สมัครแข่งขันทางการเมืองเป็นเหยื่อ
อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีถูกลอบสังหารในปี 2506 เช่นเดียวกับบ็อบบี เคนเนดี น้องชายของเขาที่ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2511 ส่วนอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารในปี 2524.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรีนแลนด์ ยืนหยัดคัดค้าน 'โดนัลด์ ทรัมป์'
ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศย้ำอีกครั้งว่า เขาต้องการควบคุมกรีนแลนด์ แต่ผู้นำรัฐบาลของเกาะมีปฏิกิริยาตอบโต้เรื่องนี้ด้วยคำพูดที่ชัดเ