อิสราเอลยังไม่ยืนยันว่าได้สังหารโมฮัมเหม็ด เดอิฟ หัวหน้ากองทัพของฮามาสในการโจมตีเมื่อวันเสาร์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 90 รายในค่ายผู้พลัดถิ่น
ชาวปาเลสไตน์แบกศพญาติที่ถูกสังหารบริเวณห้องละหมาดชั่วคราวที่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-ชาตี ระหว่างการโจมตีของอิสราเอลทางตะวันตกของกาซาซิตี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาส (Photo by Omar AL-QATTAA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า กองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซา โดยทิ้งระเบิดใส่ค่ายพักพิงผู้พลัดถิ่นแห่งหนึ่ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย
กองทัพฯกล่าวว่า ได้กำหนดเป้าหมายไปที่โมฮัมเหม็ด เดอิฟ หัวหน้ากองทัพของฮามาสและราฟา ซาลามา ผู้บัญชาการกองพลน้อย โดยเชื่อว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้บงการการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม อันเป็นต้นตอแห่งสงครามที่กำลังดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 10 ในขณะนี้
แต่ชะตากรรมของบุคคลทั้งสองยังไม่ชัดเจน โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าบุคคลทั้งสองเสียชีวิตแล้วหรือไม่
การทิ้งระเบิดในเมืองอัล-มาวาซี ซึ่งเป็นเขตปลอดภัยที่กลุ่มบรรเทาทุกข์กล่าวว่ามีคนหลายแสนคนกำลังหลบภัยอยู่ นำมาซึ่งเสียงประณามจากทั่วทั้งภูมิภาค เช่น กระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ที่กล่าวว่า "อาชญากรรมดังกล่าวเป็นสิ่งไม่สามารถยอมรับได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม"
กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซาระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย โดยแบ่งเป็นผู้หญิงและเด็กอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 300 คนในเมืองดังกล่าว
กองทัพอิสราเอลแก้ตัวว่าการโจมตีของพวกเขามุ่งเป้าไปที่เดอิฟเท่านั้น และพื้นที่ที่ถูกโจมตีเป็นพื้นที่เปิด, ล้อมรอบด้วยต้นไม้, อาคารหลายแห่ง และเพิง โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่กางเต็นท์ผู้ลี้ภัย แต่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร
ถ้อยแถลงของกลุ่มฮามาสปฏิเสธคำกล่าวของอิสราเอลที่อ้างว่ามุ่งเป้าไปที่เดอิฟ โดยระบุว่า อิสราเอลใช้ข้ออ้างเรื่องเป้าหมายเพื่อกลบเกลื่อนเจตนาสังหารหมู่
ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม อิสราเอลได้แจ้งชาวปาเลสไตน์ให้ย้ายไปยังพื้นที่มนุษยธรรมที่กำหนดไว้ในอัล-มาวาซี ในขณะที่กองทหารของพวกเขาเคลื่อนเข้าสู่เมืองราฟาห์ที่อยู่ใกล้เคียง
ตั้งแต่นั้นมา อิสราเอลถูกกล่าวหาว่าสังหารพลเรือนในการโจมตีใกล้กับอัล-มาวาซี รวมถึงการโจมตีครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาเต็นท์ผู้ลี้ภัยจนมีผู้เสียชีวิต 45 ราย
ฟิลิปป์ ลาซารินี หัวหน้าหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ (UNRWA) กล่าวถึงพื้นที่ดังกล่าวว่าเป็น "พื้นที่เกษตรกรรมที่มีผืนทรายขนาด 14 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผู้คนจะถูกปล่อยทิ้งไว้ในที่โล่งโดยมีอาคารเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้นการกล่าวอ้างที่ว่าผู้คนในฉนวนกาซาสามารถย้ายไปอยู่ในเขตปลอดภัยหรือเขตมนุษยธรรมได้นั้น ไม่เป็นความจริง"
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในถ้อยแถลงว่า อิสราเอลยังคงเลือกอาวุธที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งถือเป็นการไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของพลเรือนอย่างโจ่งแจ้ง
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอิสราเอลระบุว่า การโจมตีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าอิสราเอลจะยังคงมุ่งเป้าไปที่ผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาส แม้ว่าอีกด้านหนึ่งจะมีการดำเนินการเจรจาข้อตกลงปล่อยตัวตัวประกันก็ตาม
อิสราเอลและฮามาสมีส่วนร่วมในการเจรจาทางอ้อมเป็นเวลาหลายเดือนผ่านผู้ไกล่เกลี่ยอย่างกาตาร์, สหรัฐฯ และอียิปต์ เพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวตัวประกันที่เหลือ โดยการเจรจาจะเกิดขึ้นในโดฮาและไคโรในสัปดาห์นี้
เนทันยาฮูยังคงยืนกรานว่าข้อตกลงใดๆ ก็ตามจะต้องไม่ขัดขวางอิสราเอลในการบรรลุเป้าหมายของสงคราม ซึ่งก็คือการทำลายกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากและนำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้าน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐได้สรุปแผนสำหรับการสงบศึกเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นตัวประกันจะได้รับการปล่อยตัวเพื่อแลกกับชาวปาเลสไตน์ในเรือนจำของอิสราเอล ตามมาด้วยการเจรจาเกี่ยวกับการยุติสงครามเต็มรูปแบบ โดยไบเดนกล่าวว่าเงื่อนไขดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากทั้งอิสราเอลและฮามาสแล้ว แต่ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่ต้องเจรจาต่อไป
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮามาสกล่าวว่า เนทันยาฮูเป็นคนหนึ่งที่ขัดขวางการบรรลุข้อตกลง และเรียกร้องให้ไบเดนใช้แรงกดดันที่เพียงพอต่อผู้นำอิสราเอลรายนี้
ในอิสราเอล ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีข้อตกลงปล่อยตัวตัวประกันที่ยังคงถูกควบคุมไว้ในฉนวนกาซา โดยจะมีการเดินขบวนประท้วงเป็นเวลา 4 วันจากกรุงเทลอาวีฟไปถึงเยรูซาเล็ม
ปัจจุบันสงครามได้แผ่ขยายความตึงเครียดให้เพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยอิสราเอลแลกเปลี่ยนการยิงข้ามพรมแดนเป็นประจำกับกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ในขณะที่กลุ่มฮูตีในเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านก็ได้ทำการโจมตีทางทะเลที่อ้างว่าทำเพื่อชาวกาซา กลายเป็นหนึ่งสงครามหลายแนวรบที่ดูท่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว