มีผลการศึกษาขนาดเล็กๆ จากอังกฤษล่าสุดพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ที-เซลล์ ที่เกิดจากการเป็นโรคหวัดทั่วไปจากไวรัสโคโรนา อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่นักวิจัยย้ำวัคซีนยังเป็นหัวใจสำคัญ และไม่ใช่หวัดทุกชนิดจะก่อเซลล์ภูมิต้านทานโควิด
รายงานของรอยเตอร์และบีบีซีเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 กล่าวว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นของอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร "Nature Communications" ในวันเดียวกันนี้ โดยคณะวิจัยทำการศึกษากับคนกลุ่มเล็กๆ จำนวน 52 คน ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่เพิ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และทำการตรวจสอบระดับของเซลล์ที (T-cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งทำหน้าที่ปล่อยสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี ออกมาทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส
ที-เซลล์เปรียบเสมือน "ธนาคารหน่วยความจำ" ของเซลล์ภูมิต้านทานบางอย่างที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังการติดเชื้อไวรัส เซลล์เหล่านี้คงอยู่ในร่างกายยาวนานเพื่อป้องกันการโจมตีของไวรัสในอนาคต การศึกษาชิ้นนี้เชื่อว่า ที-เซลล์น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าภูมิคุ้มกันโควิด-19 มีความซับซ้อน และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าระดับภูมิต้านทานในร่างกายที่ได้จากวัคซีนนั้น อ่อนลงหลังผ่านไป 6 เดือน
การศึกษา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน 2563 พบว่า ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้หรือ 26 คน ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีระดับของที-เซลล์สูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มนี้ นักวิจัยกล่าวว่า ที-เซลล์ที่ตรวจพบน่าจะสร้างขึ้นเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีความใกล้ชิดกับไวรัส SARS-CoV-2 หรือโควิด-19 ซึ่งก็คือไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคหวัดทั่วไป
นักวิจัยคำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ เช่น ระบบระบายอากาศและการสัมผัสติดต่อในครัวเรือนว่าจะส่งผลต่อการติดเชื้อไวรัสโควิดอย่างไรด้วย
ดร.ไซมอน คลาร์ก จากมหาวิทยาลัยเรดดิง กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการศึกษาชิ้นนี้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ผลที่ได้ช่วยสร้างความเข้าใจว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเราต่อสู้กับไวรัสอย่างไร และอาจช่วยในการพัฒนาวัคซีนในอนาคต
อย่างไรก็ดี ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรถูกตีความเกินเลย และดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ที่ทุกคนที่เสียชีวิตหรือมีอาการติดเชื้อที่รุนแรง จะไม่เคยเป็นหวัดที่เกิดจากไวรัสโคโรนา "และอาจเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่จะคิดว่า ใครก็ตามที่เพิ่งเป็นหวัดสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เพราะว่าไวรัสโคโรนานั้นมีสัดส่วนเพียง 10-15% ของไวรัสที่ก่อโรคหวัด" เขาย้ำ
ศาสตราจารย์อชิต ลัลวานี ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาชิ้นนี้ เห็นด้วยเช่นกันว่า วัคซีนยังเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเรียนรู้การทำงานที่ถูกต้องของร่างกายจะช่วยให้เราออกแบบวัคซีนชนิดใหม่ได้
วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันพุ่งเป้าหมายที่โปรตีนหนาม ที่อยู่ส่วนนอกของเซลล์ไวรัสโควิด-19 และมีการกลายพันธุ์อยู่เสมอ เช่นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งลดประสิทธิภาพของวัคซีนต่อการติดเชื้อที่แสดงอาการ แต่ที-เซลล์ของร่างกายพุ่งเป้าที่โปรตีนภายในเซลล์ของไวรัส ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ หมายความว่า วัคซีนที่ควบคุมการทำงานของที-เซลล์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น สามารถให้การป้องกันที่กว้างขึ้นและยาวนานขึ้นต่อการติดเชื้อโควิด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลเตือนเช็กอาการ 6 โรคหลังไปเที่ยวปีใหม่
รองโฆษกรัฐบาลขอ ปชช.เดินทางท่องเที่ยว ปลอดภัย ไร้โรค ไร้ภัย แนะหมั่นสังเกตอาการ หลังเดินทางกลับ หากมีอาการผิดปกติ รีบพบแพทย์
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform
'หมอยง' หวนระลึกโควิด19 ปีที่สองของการระบาด!
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก