อุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของจีน ที่รัฐบาลต้องปรับแผนครั้งใหญ่

พนักงานขายเรียกลูกค้าอยู่หน้าร้านขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม (Photo by WANG Zhao / AFP)

ผู้นำระดับสูงของจีนมีกำหนดประชุมกันเพื่อทบทวนแผนกระตุ้นการเติบโตเสียใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังคงไม่กระเตื้องจากการบริโภคที่ซบเซา, ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต และความกลัวภาวะเงินฝืด

อัตราการว่างงานของเยาวชนที่สูงถึง 14.2% ในเดือนพฤษภาคม และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทำให้การบริโภคลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังเศรษฐกิจจีน

ประเทศจีนดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืดเป็นเวลา 4 เดือนในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยอัตราการบริโภคหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 14 ปีในเดือนมกราคม

นับตั้งแต่นั้นมา พวกเขากลับเข้าสู่แดนบวกแต่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนมิถุนายน ตามข้อมูลที่เผยแพร่ล่าสุดในสัปดาห์นี้

อัตราการบริโภคที่ซบเซาหรือตกต่ำส่งผลเสียต่อสุขภาพของเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องลดปริมาณการผลิตลงเพื่อเคลียร์สต๊อกหรือลดการผลิตลงหากไม่มีคำสั่งซื้อ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและความจำเป็นในการจ้างงาน

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาและได้ผลักดันมาตรฐานการครองชีพของประชากรให้เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสี่ของจีดีพีจีน กลับเผชิญแรงกดดันอย่างหนักนับตั้งแต่รัฐบาลเข้มงวดเงื่อนไขสินเชื่อสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ทำให้บริษัททั้งเล็กและใหญ่หลายแห่งจวนจะล้มละลายหรือล้มละลายไปบ้างแล้ว

ปัญหาดังกล่าวจึงไม่จูงใจให้ชาวจีนลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออสังหาริมทรัพย์ในจีนมักดำเนินการแบบจ่ายเงินซื้อก่อนการก่อสร้างจริง

อีกทั้งราคาต่อตารางเมตรที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อกระเป๋าสตางค์ของเจ้าของบ้านซึ่งเคยสบายใจมาตลอดว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย

ยังมีปัญหาด้านงบประมาณของหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งที่บานปลายจนติดลบสุดขีดจำกัด หลังจากใช้เวลา 3 ปีในการใช้จ่ายมหาศาลเพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเหนือสิ่งอื่นใดคือวิกฤตทรัพย์สินที่ทำให้พวกเขาขาดแหล่งรายได้หลัก

นักวิเคราะห์จาก SinoInsider ซึ่งเป็นที่ปรึกษาชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า บริบททางเศรษฐกิจกำลังทำให้ความยากลำบากของพวกเขารุนแรงขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลท้องถิ่นกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มรายได้ ภายใต้ความเสี่ยงที่มากขึ้นในสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ

ทั้งนี้ การส่งออกของจีนยังเป็นประเด็นน่ากังวลสำหรับผู้นำประเทศอีกด้วย

ในอดีตภาคการส่งออกเคยเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญและมีผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานของบริษัทหลายพันแห่ง

แต่ภาคส่วนนี้อยู่ภายใต้แรงกดดันจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน รวมถึงความตึงเครียดกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของยักษ์ใหญ่ในเอเชียรายนี้

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม สหภาพยุโรปเตรียมเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมสูงสุด 38% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน โดยมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลปักกิ่งแทรกแซงด้วยการสนับสนุนบรรดาผู้ผลิต ทำให้เกิดภาวะราคาที่ไม่เป็นธรรมกับตลาดสากล

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในจีน, ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับวอชิงตัน และความเสี่ยงที่มีต่อห่วงโซ่อุปทาน ยังขัดขวางการลงทุนจากต่างประเทศ

แม้ผู้นำจีนซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มความพยายามในการดึงดูดผู้นำธุรกิจต่างชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนมีศักยภาพ, เปิดกว้าง และยินดีต้อนรับการลงทุนจากภาคเอกชน แต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม การลงทุนจากต่างประเทศยังคงลดลง 28% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์จีน

เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ภาคการเงินจึงไม่เต็มใจที่จะลงทุนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การเติบโตแบบเดิมอีกต่อไป จนเกิดเป็นภาวะการขาดแคลนสินทรัพย์

ในทางกลับกัน กำลังซื้อในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ไม่มีความเสี่ยงกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะให้อัตราผลตอบแทนต่ำก็ตาม ถือเป็นการสูญเสียโอกาสที่ทุนมหาศาลจะลงสู่ตลาดและเป็นแกนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งจะยิ่งทำให้ค่าเงินจีนอ่อนลง และยอดหนี้ต่างประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นไปอีก.

เพิ่มเพื่อน