ผู้นำนาโตรวมตัวกันที่สหรัฐอเมริกาเพื่อฉลองครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งองค์การ โดยมีวาระสงครามยูเครนเป็นสำคัญ ท่ามกลางสถานะสั่นคลอนทางการเมืองในหลายชาติตะวันตก
บรรดาผู้นำชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ถ่ายรูปร่วมกันระหว่างพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีการก่อตั้ง ที่หอประชุมเมลลอนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม (Photo by SAUL LOEB / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า บรรดาผู้นำชาติสมาชิก 32 ประเทศขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมประชุมสุดยอดและเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ของการก่อตั้ง
ในการรวมตัวของบรรดาผู้นำที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตันเป็นเวลาสามวัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะแสดงบทบาทในการเรียกร้องความเป็นหนึ่งเดียวของชาติสมาชิก รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกันได้พิจารณาว่าในวัย 81 ปี เขาจะยังคงเหมาะสมกับงานนี้หรือไม่
ไบเดนประกาศสนับสนุนระบบป้องกันภัยทางอากาศชุดใหม่ให้แก่รัฐบาลเคียฟ และเรียกร้องให้สมาชิกยึดถือเอกภาพในการต่อต้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งเปิดฉากการรุกรานยูเครนในปี 2565
ก่อนการประชุมสุดยอดเริ่มขึ้นไม่นาน รัสเซียเพิ่งระดมยิงขีปนาวุธใส่ยูเครนจนคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบราย รวมถึงในเคียฟที่โรงพยาบาลเด็กแห่งหนึ่งถูกโจมตีเสียหาย
ไบเดนได้เชิญประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด เช่นเดียวกับผู้นำจากประเทศพันธมิตรสำคัญในภาคพื้นแปซิฟิก 4 ราย ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในขณะที่ตัวผู้นำสหรัฐเองได้พยายามผลักดันให้ที่ประชุมนำประเด็นการเพิ่มขึ้นของอิทธพลจีนมาพิจารณา
ในห้วงสุดท้ายของบทบาททางการเมืองก่อนการเลือกตั้งอีก 4 เดือน ไบเดนต้องเร่งกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาในยูเครน เพราะตำแหน่งผู้นำของเขาสั่นคลอนอย่างหนักจากกระแสของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ตั้งคำถามถึงประโยชน์ขององค์การแห่งนี้และมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการให้ยูเครนยอมยกดินแดนให้รัสเซีย
เซเลนสกีได้ใช้เวทีการประชุมในการกล่าวปราศรัยขอบคุณผู้สนับสนุนยูเครนที่ให้คำมั่นในการส่งมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศชุดใหม่ และเรียกร้องให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ดำเนินการต่อไปเพื่อช่วยขับไล่กองกำลังรัสเซียออกจากดินแดน
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตคนปัจจุบันที่จะวางมือในเดือนตุลาคมปีนี้ กล่าวว่า "ยูเครนได้แสดงความกล้าหาญอย่างน่าทึ่ง และพันธมิตรนาโตเองก็ทุ่มเทการสนับสนุนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขอให้ชาติสมาชิกยึดถือแนวคิดนี้ไว้ตลอดว่า เราจะต้องไม่ยอมปล่อยให้รัสเซียชนะในยูเครน"
คาดว่าข้อความนี้อาจต้องการส่งถึงหนึ่งในชาติสมาชิกที่มีความใกล้ชิดกับปูติน นั่นคือนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ซึ่งเดินทางไปยังยูเครน, รัสเซีย และจีน เพื่อทำภารกิจสันติภาพด้วยตนเอง โดยไม่สนใจเสียงตำหนิจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
อีกหนึ่งผู้นำที่ถูกจับตาในการประชุมครั้งนี้คือนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งจากชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคแรงงาน โดยเขาจะได้พบกับทั้งไบเดนและเซเลนสกี และคาดว่าจะยืนยันการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งของอังกฤษที่มีต่อยูเครน
ขณะที่เซเลนสกีจะใช้เวทีประชุมในการมองหาคำรับรองอันหนักแน่นที่จะผลักดันให้ยูเครนได้เป็นหนึ่งในชาติสมาชิกนาโตในเร็ววัน
สมาชิกภาพของยูเครนได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประเทศแถบบอลติกและยุโรปตะวันออกที่ยังคงถูกหลอกหลอนมานานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของอดีตสหภาพโซเวียต
แต่สหรัฐอเมริกาและเยอรมนียังคงคัดค้าน เพราะกังวลว่าพันธมิตรทั้งหมดจะถูกดึงเข้าสู่สงครามกับรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ขั้นสูงและปัจจุบันได้ยึดครองพื้นที่บางส่วนของยูเครนแล้ว
เซเลนสกีซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะวีรบุรุษโดยชาติตะวันตก แสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผยในการประชุมสุดยอดครั้งล่าสุดในลิทัวเนีย เกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในเส้นทางการสนับสนุนอยู่เครนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ขณะที่สหรัฐฯ ใช้เวทีประชุมในวอชิงตันในการพยายามลดความคาดหวังของเขา โดยพูดถึงโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับการได้รับสมาชิกภาพ แต่ก็ไม่ได้ระบุความคืบหน้าใดๆในแบบที่เซเลนสกีต้องการ.