ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นลงนามข้อตกลงด้านกลาโหม ป้องกันอิทธิพลจีน

ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมที่จะอนุญาตให้ส่งทหารไปในดินแดนของกันและกันได้ ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ครั้งสำคัญเพื่อรับมืออิทธิพลและความก้าวร้าวของจีน

โยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น (ด้านหน้าซ้าย) และกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ จับมือกันหลังลงนามข้อตกลงการเข้าถึงซึ่งกันและกัน ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม (Photo by LISA MARIE DAVID / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า รัฐบาลมะนิลาและรัฐบาลโตเกียวลงนามในข้อตกลงสำคัญด้านกลาโหม ภายใต้เงื่อนไขที่จะอนุญาตให้ส่งทหารไปในดินแดนของกันและกันได้

ข้อตกลงการเข้าถึงซึ่งกันและกัน (RAA) ได้รับความเห็นพ้องในกรุงมะนิลา ระหว่างมิโนรุ คิฮาระ รัฐมนตรีกลาโหมกับโยโกะ คามิกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศ จากฝั่งญี่ปุ่น และกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีกลาโหมกับเอ็นริเก มานาโล รัฐมนตรีต่างประเทศ จากฝั่งฟิลิปปินส์

ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งทั้งสองรัฐบาลเปิดเจรจากันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นการวางกรอบทางกฎหมายสำหรับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ในการส่งเจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันและความมั่นคงไปยังดินแดนของกันและกันเพื่อรับการฝึกอบรมและปฏิบัติการอื่นๆ

ตัวแทนจากทั้งสองชาติลงนามข้อตกลงฯที่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อได้รับสัตยาบันจากฝ่ายนิติบัญญัติของทั้งสองชาติแล้ว

"การลงนามดังกล่าวเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญในความพยายามร่วมกันของเราที่จะรับประกันความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์ เพื่อประกันสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคของเรา" เทโอโดโรกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้เสริมสร้างความเป็นพันธมิตรตั้งแต่แคนเบอร์ราไปจนถึงโตเกียว เพื่อตอบโต้อำนาจและอิทธิพลทางทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งจีนเองได้ออกมาประณามว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ คือความพยายามสร้างนาโตเวอร์ชันเอเชียแปซิฟิก

การลงนามฯเกิดขึ้นในขณะที่จีนคุกคามทางทหารต่อไต้หวันและทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งที่ลุกลามอาจดึงสหรัฐฯให้เข้ามาเกี่ยวข้อง

มีการเผชิญหน้าในทะเลที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างเรือของจีนและฟิลิปปินส์ ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเพิ่มความพยายามในการผลักดันการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด

เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งของจีนถือมีด, ไม้ และขวาน บุกขึ้นเรือของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ 3 ลำระหว่างภารกิจเสริมกำลังพลไปยังสันดอนโธมัสที่สองในหมู่เกาะสแปรตลีย์ กลายเป็นความชุลมุนที่ทำให้กะลาสีเรือฟิลิปปินส์รายหนึ่งสูญเสียนิ้วโป้งจากเหตุดังกล่าว

ขณะที่รัฐบาลโตเกียวและปักกิ่งต่างก็เผชิญหน้ากันในหมู่เกาะพิพาทที่ญี่ปุ่นครอบครองอยู่ในทะเลจีนตะวันออก

แม้ญี่ปุ่นเคยรุกรานและยึดครองฟิลิปปินส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ระยะหลังทั้งสองประเทศฟื้นความสัมพันธ์และมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นทางการค้าการลงทุน และล่าสุดคือด้านกลาโหม

ญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์หลักด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้กับฟิลิปปินส์ รวมถึงเรือลาดตระเวนและระบบเฝ้าระวัง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโตเกียวได้ลงนามข้อตกลงลักษณะเดียวกับอังกฤษและออสเตรเลีย ส่วนรัฐบาลมะนิลาเองก็มีข้อตกลงลักษณะนี้กับสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย และกำลังจะดำเนินการร่วมกับฝรั่งเศส

ฟิลิปปินส์กลายเป็นจุดสนใจหลักของสหรัฐฯ ในการสร้างกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากมีตำแหน่งที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้และอยู่ไม่ห่างจากเกาะไต้หวันซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตนเอง ดังนั้นการสนับสนุนจากฟิลิปปินส์จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐฯ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง.

เพิ่มเพื่อน