เคียร์ สตาร์เมอร์ประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ หลังนำพรรคแรงงานกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายและเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3
สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (ขวา) ทรงโปรดให้เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเข้าเฝ้า ที่พระราชวังบัคกิงแฮมในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม (Photo by Yui Mok / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของรืชี ซูนัค ขั้นตอนการประกาศตัวผู้นำคนใหม่ก็เริ่มขึ้น
เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคแรงงานที่กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ได้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อรับคำเชิญให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จากนั้น สตาร์เมอร์ได้เดินทางมายังบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่ทำงานและบ้านพักของผู้นำอังกฤษ และเริ่มกล่าวสุนทรพจน์ก่อนเข้าสู่กระบวนการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
"ภารกิจแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้น ณ บัดนี้ เราจะสร้างอังกฤษขึ้นมาใหม่"
เขากล่าวว่า รัฐบาลแรงงานจะให้ความสำคัญกับประเทศเหนือกว่าตัวพรรค และจะฟื้นฟูความเคารพที่มีต่อการเมือง หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวอย่างต่อเนื่องภายใต้ยุคสมัยของกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งกัดกร่อนความไว้วางใจของสาธารณชน
แต่เขาพยายามที่จะลดความคาดหวังอันสูงส่งของการเปลี่ยนแปลงในทันที โดยออกตัวว่าการเปลี่ยนประเทศไม่ง่ายเหมือนการกดสวิตช์
"โลกตอนนี้มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากระบวนการสู่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นแล้ว" สตาร์เมอร์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวและผู้สนับสนุนที่มาร่วมให้กำลังใจ
นอกจากนี้ สตาร์เมอร์ยังได้แสดงความเคารพต่อซูนัคที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไปหลังบริหารประเทศมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565
"ในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรกของประเทศ ความสำเร็จของเขาไม่ควรถูกมองข้าม เพราะความพยายามของเขานั้นเด่นชัดมาตลอด"
"เราแสดงความเคารพต่อสิ่งนั้นในวันนี้ เรายังตระหนักถึงความทุ่มเทและการทำงานหนักที่เขานำมาสู่ประเทศในฐานะผู้นำที่น่ายกย่อง" นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์กล่าว
ผู้สนับสนุนต่างโบกธงของพรรคแรงงานเพื่อแสดงความยินดีบริเวณทางเข้าถนนดาวนิง ตั้งแต่ช่วงที่สตาร์เมอร์และวิกตอเรีย ผู้เป็นภริยา เดินทางมาจากพระราชวังบัคกิงแฮม
สตาร์เมอร์มีภารกิจที่ต้องทำมากมายหลังจากนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่ากังวล ทั้งความเบื่อหน่ายของประชาชนอังกฤษที่มีต่อบริการสาธารณะ, ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการละเมิดนโยบายที่เคยให้สัญญาไว้ของบรรดานักการเมือง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตความเชื่อถือ! ศ.ดร.ไชยันต์แนะ 'เศรษฐา' ลาออก
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย