สีจิ้นผิงและปูตินไปทำอะไรในเอเชียกลาง!

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน, ประธานาธิบดีคาซิม-โยมาร์ต โตคาเยฟ ของคาซัคสถาน, ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย, ประธานาธิบดีเอมอมาลี เราะห์มาน ของทาจิกิสถาน และประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส โพสท่าถ่ายรูปร่วมกันระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในกรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม (Photo by Gavriil GRIGOROV / POOL / AFP)

ในขณะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดิ้นรนต่อสู้ทางการเมืองในประเทศอย่างหนัก และโฉมหน้าของประเทศเหล่านั้นอาจเปลี่ยนไปหากผู้นำเดิมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไปแล้ว เฉกเช่นความพ่ายแพ้ของริชี ซูนัคในอังกฤษ, อำนาจบริหารที่กำลังจะสูญเสียไปของเอมมานูเอล มาครง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในตัวโจ ไบเดนที่อาจทำให้เขาต้องเดินออกจากทำเนียบขาวช่วงปลายปี

มีผู้นำชาติมหาอำนาจสองคนกำลังชื่นมื่นกับการขยายความร่วมมือด้านต่างประเทศและพันธมิตรเศรษฐกิจในดินแดนเอเชียกลาง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางเยือนกรุงอัสตานาของคาซัคสถาน เพื่อประชุมสุดยอดผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ 2567 (SCO 2024) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในภูมิภาคที่รัฐบาลมอสโกและรัฐบาลปักกิ่งมองว่ามีศักยภาพในการถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลก

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 โดยมีจีน, รัสเซีย กับประเทศแถบเอเชียกลางที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ได้แก่ อุซเบกิสถาน, คาซัคสถาน, ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ด้วยจุดประสงค์ด้านความร่วมมือทางการเมือง, ความมั่นคง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เมื่อองค์การดำเนินไปได้ระยะเวลาหนึ่งจึงมีการเพิ่มจำนวนสมาชิกเข้ากลุ่มมาเรื่อยๆ ทั้งอิหร่าน, อินเดีย, ปากีสถาน และเบลารุส

ในการหารืออย่างเป็นทางการ ผู้นำจีนกล่าวในที่ประชุมเรียกร้องให้บรรดาประเทศสมาชิกร่วมมือกันเพื่อต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก, สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมั่นคง, ดูแลข้อกังวลของกันและกัน และควบคุมอนาคตประเทศ, สันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคด้วยตนเอง

ขณะที่ผู้นำรัสเซียเชื่อว่า SCO กำลังเดินด้วยย่างก้าวที่มั่นคงและจะเติบโตไปเป็นศูนย์กลางใหม่ของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมเตือนให้บรรดาสมาชิกติดตามการเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลก และเรียกร้องให้องค์การฯเพิ่มบทบาทด้านความมั่นคงระดับโลกและระดับภูมิภาคไปพร้อมกัน

ปูตินชี้ว่าโลกกำลังต่อสู้กันด้วยอาวุธหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการใช้กำลังทหารและการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการกีดกันอย่างเป็นระบบ โดยการเผชิญหน้าเหล่านั้นทำให้เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระดับโลกมากขึ้น

แม้ไม่ได้อ้างถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซียหรือข้อพิพาทระหว่างจีนกับไต้หวันโดยตรง แต่ที่ประชุมออกแถลงการณ์ซึ่งมีข้อความแสดงความเคารพซึ่งกันและกันต่ออธิปไตย, เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ

รัสเซียและจีนต่างต่อต้านบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการครอบงำกิจการระดับโลกอยู่เป็นประจำ และกำลังพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลของพวกเขาด้วยการรวมกลุ่มพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคใกล้พรมแดนของตนเอง

ทั้งนี้ บรรดาชาติตะวันตกมักแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซ รวมถึงเส้นทางการขนส่งที่สำคัญระหว่างเอเชียและยุโรป

ด้วยเหตุดังกล่าว ความเติบโตของ SCO ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแข่งขันกับชาติตะวันตก จึงได้รับการจับตาอย่างมากว่าเป็นการรวมกลุ่มด้วยจุดประสงค์ที่น่าสงสัยเพราะประเทศสมาชิกส่วนใหญ่มีความขัดแย้งหรือถูกคว่ำบาตรจากมหาอำนาจตะวันตก อีกทั้งความโดดเด่นขององค์การฯในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนไปของโลกได้ เพราะจำนวนรวมของประชากรในกลุ่มสมาชิกคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันคิดเป็น 30% ของจีดีพีโลก

ในวาระสุดท้ายของการประชุม มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธฝ่ายเดียวและไม่จำกัดโดยประเทศที่ไม่ถูกระบุชื่อโดยตรง แต่เข้าใจได้ไม่ยากว่ารัสเซียและจีนมุ่งเป้าไปที่สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงถาวรโดยเร็วและยั่งยืนในฉนวนกาซา ภายใต้ข้อตกลงที่ครอบคลุมและยุติธรรมสำหรับชาวปาเลสไตน์.

เพิ่มเพื่อน