พรรคแรงงานมีแนวโน้มได้รับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอังกฤษเริ่มออกไปลงคะแนนเสียง วันเดียวรู้ผล
ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ เดินทางมาลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งในเคอร์บี ซิกสตัน นอร์ธอัลเลอร์ตัน ทางตอนเหนือของอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม (Photo by Oli SCARFF / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า ประชาชนชาวอังกฤษทยอยออกไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ท่ามกลางความคาดหวังอย่างกว้างขวางว่าพรรคแรงงานฝ่ายค้านจะได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และยุติการปกครองแบบอนุรักษนิยมที่ยาวนานกว่า 14 ปี
การลงคะแนนเสียงระดับชาติครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่บอริส จอห์นสันจากพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2562 เกิดขึ้นภายหลังนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัคประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เร็วกว่ากำหนด 6 เดือน
การเดิมพันครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางการเมืองแบบที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการ โดยผลสำรวจตลอดการหาเสียง 6 สัปดาห์ และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความพ่ายแพ้อย่างหนักสำหรับพรรคฝ่ายขวาของอังกฤษ ซึ่งแทบจะทำให้เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคแรงงาน ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ในรัฐสภา
คาดว่าพรรคแรงงานฝ่ายซ้ายกลางจะชนะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 โดยผลสำรวจที่คึกคักก่อนการเลือกตั้งล้วนคาดการณ์ถึงชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แต่สตาร์เมอร์ไม่ได้เบิกบานต่อคะแนนนิยม เขายังคงเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาลงคะแนนเสียงเพื่ออนาคตของอังกฤษ และย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนลงคะแนนให้
การลงคะแนนเสียงเริ่มขึ้นในเวลา 07.00 น. ในหน่วยเลือกตั้งมากกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ห้องโถงโบสถ์, ศูนย์ชุมชน, โรงเรียน ไปจนถึงสถานที่ที่ไม่ธรรมดา เช่น ผับ และแม้แต่บนเรือ
คูหาจะปิดในเวลา 22.00 น. จากนั้นจะมีการประกาศเอ็กซิทโพล ซึ่งจะเผยให้เห็นผลลัพธ์ของการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ
จากทั้งหมด 650 เขตเลือกตั้งของสหราชอาณาจักร หากพรรคการเมืองใดคว้าได้ 326 ที่นั่ง ก็จะสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
สำนักสำรวจผลการเลือกตั้งหลายแห่งคาดการณ์ว่า พรรคแรงงานจะได้ที่นั่งอย่างน้อย 430 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าตัวเลข 418 ที่นั่งภายใต้การนำของโทนี่ แบลร์ เมื่อปี 2540
ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมอาจดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่น้อยกว่า 127 ที่นั่ง
หากการคาดการณ์ถูกต้อง ซูนัคจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในวันศุกร์ เพื่อยื่นคำลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สตาร์เมอร์จะเข้าเฝ้ากษัตริย์ไม่นานหลังจากนั้น เพื่อรับคำเชิญให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดต่อไปในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จากนั้นผู้นำพรรคแรงงานจะเดินทางไปยังถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่ทำงานและบ้านพักของผู้นำอังกฤษ และกล่าวสุนทรพจน์ก่อนแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตความเชื่อถือ! ศ.ดร.ไชยันต์แนะ 'เศรษฐา' ลาออก
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถอดบทเรียนเลือกตั้งอังกฤษกับไทย ‘ก้าวไกล’ อาจแลนด์สไลด์ครั้งต่อไปได้!
จากผลการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ ทำให้หลายคน ได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ เชื่อมโยงกับการเมืองของประเทศไทย