อังกฤษมีแนวโน้มที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในสัปดาห์นี้ ด้วยชัยชนะของพรรคแรงงานฝ่ายกลาง-ซ้าย หลังจาก 14 ปีแห่งการปกครองของพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวา
นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษจากพรรคอนุรักษนิยม (ซ้าย) และเคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน (Photo by Molly DARLINGTON and Andy BUCHANAN / various sources / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า อังกฤษกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองของประเทศ จากการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม
ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะเริ่มเข้าคูหาได้ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพฤหัสบดี โดยคาดการณ์ว่าพรรคแรงงานจะชนะอย่างถล่มทลาย ซึ่งจะทำให้เคียร์ สตาร์เมอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในโอกาสครบรอบ 100 ปีที่พรรคฯ มีนายกรัฐมนตรีคนแรก (แรมซีย์ แมกดอนัลด์ ปี พ.ศ. 2467)
จอห์น เคอร์ติซ ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษแสดงความเห็นเชิงเปรียบเทียบว่า โอกาสที่จะเกิดฟ้าผ่าสองครั้งในสถานที่เดียวกัน ยังมีมากกว่าที่ริชี ซูนัคจะสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย
แม้ซูนัคจะเร่งเดินสายหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างหนักในแต่ละพื้นที่ แต่สตาร์เมอร์ ผู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ก็ทำงานอย่างเอาจริงเอาจังเช่นกัน โดยไม่หวังพึ่งกระแสแบเบอร์และความเป็นตัวเต็ง
พรรคอนุรักษนิยมหวังว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังคงไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่ แต่บรรยากาศการเมืองที่ดูไม่กระตือรือร้นในช่วงโค้งสุดท้ายทำให้สามารถคิดได้ว่า คนส่วนใหญ่อาจได้ตัวเลือกในใจมามานานแล้ว โดยสิ่งที่ชี้วัดคือตัวเลขความนิยมต่อพรรคแรงงานที่ยังคงทิ้งห่างพรรคอนุรักษนิยมในระดับ 20% อย่างสม่ำเสมอในทุกๆการสำรวจความคิดเห็นในช่วงสองปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัคยืนกรานว่า เขาจะต่อสู้เพื่อทุกคะแนนโหวตจนถึงนาทีสุดท้ายของการหาเสียง โดยได้แรงบันดาลใจจากการที่ทีมชาติอังกฤษคว้าชัยชนะช่วงต่อเวลาพิเศษในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ทั้งๆที่เกือบจะแพ้อยู่แล้ว
"ความหวังจะไม่เคยสิ้นสุด ตราบเท่าที่เวลายังมีอยู่แม้เพียงเสี้ยววินาที" ซูนัคเขียนบนโซเชียลมีเดียเมื่อคืนวันอาทิตย์ หลังจากที่นักฟุตบอลอังกฤษยิงประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บกับสโลวาเกีย และต่อจากนั้นก็เป็นผู้ชนะในช่วงต่อเวลาพิเศษ
สตาร์เมอร์วัย 61 ปี ซึ่งเป็นแฟนบอลอาร์เซนอลตัวยง ใช้แรงบันดาลใจเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ตราบใดที่เวลายังไม่หมด อย่าเพิ่งคิดว่าได้ชัยชนะมาแล้ว และกระตุ้นให้พรรคแรงงานของเขาทำงานหนักต่อไปจนกว่าจะสิ้นเสียงนกหวีดยาว
กลยุทธ์หาเสียงในช่วงท้ายของซูนัคและพรรคอนุรักษนิยมคือ การพยายามเล่นกับความกลัวของผู้คน ด้วยการอ้างถึงนโยบายขึ้นภาษี และความมั่นคงของชาติที่จะอ่อนแอลงหากรัฐบาลเดิมไม่สามารถกลับมาสานต่องานได้
แต่สัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว อาจเกี่ยวข้องกับชัยชนะของฝ่ายขวาจัดในการเลือกตั้งทั่วไปรอบแรกของฝรั่งเศส ขณะที่สื่ออังกฤษเริ่มให้ความสนใจไปล่วงหน้าแล้วว่ารัฐบาลของสตาร์เมอร์จะหน้าตาเป็นอย่างไร หลังสิ้นสุดการนับคะแนนเสียงในช่วงเช้าวันศุกร์
การลงคะแนนเสียงในวันพฤหัสบดีจะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมนับตั้งแต่ปี 2488 โดยครั้งนั้นพรรคแรงงานภายใต้การนำของเคลเมนต์ แอตต์ลี เอาชนะวินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปได้ จนนำไปสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
รัฐบาลของแอตต์ลีได้สร้างรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ ซึ่งรวมถึงระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันอันเป็นที่นิยมมากที่สุดของสหราชอาณาจักรรองจากราชวงศ์
วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศของสตาร์เมอร์ไม่ได้รุนแรงมากนักในเวลานี้ เช่นเดียวกับคำมั่นสัญญาที่จะบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเติบโตระยะยาว รวมทั้งการฟื้นฟูระบบพยาบาลเพื่อให้บริการสาธารณสุขของประเทศกลับมามั่นคงอีกครั้ง
"สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคง ผู้คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับการฟื้นฟูหรือปรับปรุงในสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คุณก็ทำอะไรไม่ได้" สตาร์เมอร์กล่าวกับเดอะไทมส์ในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร
สตาร์เมอร์รู้ตัวดีว่าเขากลายเป็นความหวังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศภายใต้แรงสนับสนุนถล่มทลายจากประชาชนที่ยอมพลิกขั้วการเมืองจากเดิม
นอกจากกระแสเศรษฐกิจและภาคสวัสดิการสังคมแล้ว เบร็กซิสถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้อังกฤษกลับคืนสู่สหภาพยุโรป หลังการตัดสินใจเดินออกจากสหภาพฯ ก่อให้เกิดการบีบคั้นทางการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความยากจน
ขณะที่ผู้คนจำนวนมากอยากเห็นเสถียรภาพและบูรณภาพทางการเมือง หลังเผชิญช่วงเวลาแห่งความโกลาหลของนายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยมทั้ง 5 คน รวมทั้งการสืบทอดประเด็นอื้อฉาวและการต่อสู้แย่งชิงอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายกลางและฝ่ายขวาที่ไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง
สตาร์เมอร์มาจากชนชั้นแรงงานและไม่มีความสามารถพิเศษทางการเมืองหรือความนิยมแบบอดีตผู้นำโทนี แบลร์ ซึ่งเป็นนายกฯจากพรรคแรงงาน แต่อดีตทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าพนักงานอัยการรายนี้มีจุดยืนมั่นคงในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศที่เดินถอยหลังจากการบริหารต่อเนื่องของพรรคอนุรักษนิยม และเชื่อว่าเสียงจากประชาชนจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ดีถึงการสิ้นสุดยุคสมัยของฝ่ายขวา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตความเชื่อถือ! ศ.ดร.ไชยันต์แนะ 'เศรษฐา' ลาออก
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถอดบทเรียนเลือกตั้งอังกฤษกับไทย ‘ก้าวไกล’ อาจแลนด์สไลด์ครั้งต่อไปได้!
จากผลการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ ทำให้หลายคน ได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งของประเทศอังกฤษ เชื่อมโยงกับการเมืองของประเทศไทย