นายกฯ ฮังการีดอดเยือนยูเครนเข้าพบ ‘เซเลนสกี’

(ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครน จับมือกับนายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บันของฮังการี ในระหว่างพบกันที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2024 ท่ามกลางสงครามรุกรานของรัสเซีย – Photo by Genya Savilov / AFP)

ประมุขแห่งรัฐฮังการีไม่เคยมีท่าทีเข้าข้างยูเครนมาแต่ไหนแต่ไร วิกตอร์ ออร์บันแทบไม่เคยคิดให้ความช่วยเหลือ หรือถ้ามีก็น้อย อาจเพราะเขามีความเชื่อมโยงกับรัสเซียมากเกินไป แต่ตอนนี้เขาเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟ เขาต้องการอะไรที่นั่น?

นายกรัฐมนตรีฮังการี วิกตอร์ ออร์บัน เดินทางไปเยือนยูเครนเมื่อวันอังคาร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 “ออร์บันกำลังเจรจากับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนในกรุงเคียฟ” เบอร์ตาลัน ฮาวาซี-โฆษกของเขากล่าว ตามรายงานของสำนักข่าว MTI ของฮังการี “หัวข้อสำคัญที่สุดของการเจรจาคือ ความเป็นไปได้ในการบรรลุสันติภาพ”

การพบกันระหว่างออร์บันและเซเลนสกี ในช่วงสั้นๆ เมื่อเดือนธันวาคมระหว่างการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอาร์เจนตินาของฮาเวียร์ มิเล และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ถูกเตรียมการมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ตามรายงานของคนในแวดวงรัฐบาลยูเครน

ผู้นำประเทศและคณะรัฐบาลของสหภาพยุโรปอื่นๆ ตลอดจนตัวแทนของพันธมิตรตะวันตกของยูเครน ต่างเดินทางไปยังกรุงเคียฟอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เมื่อวันจันทร์ ตัวแทนจากฮังการีเข้ารับตำแหน่งประธานสภาสหภาพยุโรปซึ่งมีวาระไปจนถึงสิ้นปี แม้ว่ารัสเซียจะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเป็นผู้ก่อสงคราม แต่ออร์บันก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโก ในเดือนตุลาคม 2023 ออร์บันได้เข้าร่วมการประชุมเส้นทางสายไหมในกรุงปักกิ่ง ร่วมกับวลาดีมีร์ ปูติน นั่นเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างประมุขแห่งรัฐของสหภาพยุโรปกับผู้นำรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มสงคราม

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและฮังการียังเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ออร์บันต่อต้านการช่วยเหลือของสหภาพยุโรปต่อประเทศที่ถูกโจมตีโดยรัสเซียหลายครั้ง และยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลในมอสโกอย่างต่อเนื่อง ภายในสหภาพยุโรปและนาโต ฮังการีนับเป็นหนึ่งในประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางการเงินและทางการทหารที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับยูเครน

ออร์บันชะลอการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และคัดค้านสหภาพยุโรปเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินให้กับยูเครนหลายครั้ง นอกจากนั้นเขายังวิพากษ์วิจารณ์การเปิดการเจรจาภาคยานุวัติของสหภาพยุโรปกับยูเครนอีกด้วย ในเวลาเดียวกันฮังการีต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเป็นอย่างมาก ซึ่งบางส่วนถูกส่งผ่านยูเครนแม้จะเกิดสงครามก็ตาม อย่างไรก็ดี เคียฟไม่ต้องการต่อสัญญาซึ่งจะหมดอายุในสิ้นปีนี้

ครั้งสุดท้ายที่วิกตอร์ ออร์บันเดินทางไปยูเครนคือปี 2012 ในเวลานั้นวิกตอร์ ยานูโควิชยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของยูเครนอยู่ (ต่อมาได้ลี้ภัยไปรัสเซีย) และรัสเซียยังได้ผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย.

เพิ่มเพื่อน