เหยียบกันตาย 116 ศพ ระหว่างพิธีทางศาสนาในอินเดีย

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 116 รายในการชุมนุมทางศาสนาฮินดูที่มีมวลชนรวมตัวหนาแน่นทางตอนเหนือของอินเดีย ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

ญาติและครอบครัวนั่งร้องไห้ด้วยความโศกเศร้า ระหว่างมาติดต่อขอรับศพผู้เสียชีวิตจากเหตุเหยียบกันตายในพิธีชุมนุมทางศาสนาฮินดูที่เมืองหาถรัส ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม (Photo by Arun SANKAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า เกิดเหตุจลาจลย่อมๆในพิธีทางศาสนาฮินดูที่มีมวลชนรวมตัวหนาแน่นในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย สุดท้ายกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ผู้คนมากมายหลั่งไหลมาร่วมพิธีเทศนาโดยผู้แสดงธรรมชื่อดังคนหนึ่งใกล้กับเมืองหาถรัส แต่ในขณะที่พวกเขากำลังออกเดินทางกลับหลังพิธีเสร็จสิ้น ได้เกิดพายุฝุ่นรุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งสถานที่จัดงาน

ผู้คนวิ่งหนีลมพายุกันอย่างบ้าคลั่ง หลายคนถูกล้มทับ, ถูกเหยียบย่ำ หรือแม้กระทั่งตกลงไปยังท่อระบายน้ำริมถนน ในสถานการณ์ที่วุ่นวายเกินควบคุม

"ผู้คนกำลังทยอยออกจากสถานที่ แต่จู่ๆก็เกิดพายุฝุ่นรุนแรงบดบังทัศนวิสัยการมองเห็นของพวกเขา นำไปสู่การแตกตื่นและเหตุการณ์ที่น่าสลดใจตามมา" ชัยตรา วี. ผู้บัญชาการตำรวจในรัฐอุตตรประเทศกล่าวกับเอเอฟพี และเสริมว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ประสบภัยดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าพิธีดังกล่าวมีคนมาร่วมงานมากเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต

หลายชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ผู้บัญชาการตำรวจฯกล่าวว่า "ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 116 ราย และยอดผู้ได้รับบาดเจ็บเบื้องต้นอีก 18 คน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง"

รถพยาบาลหลายคันถูกเรียกมายังพื้นที่เกิดเหตุเพื่อลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล รวมทั้งเคลื่อนย้ายศพผู้เสียชีวิต

บรรดาครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตเดินทางมารวมตัวกันอยู่หน้าห้องดับจิตแห่งหนึ่งในเมืองเอทาห์ ที่ซึ่งศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกนำไปพักไว้ เพื่อรอให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องมาติดต่อ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียแสดงความเสียใจกับโศกนาฏกรรมดังกล่าว พร้อมประกาศจ่ายเงินชดเชย 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 88,000 บาท) แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และ 600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22,000 บาท) สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้

ขณะที่โยคี อทิตยานาถ ซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาฮินดูและมุขมนตรีอุตตรประเทศ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตเช่นกัน และสั่งให้สอบสวนการเสียชีวิตดังกล่าวซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

เหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบ่อยในสถานที่สักการะเมื่อมีเทศกาลทางศาสนาสำคัญๆ ในอินเดีย โดยประวัติอันน่าสยดสยองเหล่านั้นมีสาเหตุจากการจัดการฝูงชนที่ไม่ดีพอและการขาดมาตรการความปลอดภัย

ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 112 รายจากเหตุระเบิดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการแสดงพลุดอกไม้ไฟในศาสนสถานแห่งหนึ่งในรัฐเกรละเนื่องในวันปีใหม่ของชาวฮินดู โดยแรงระเบิดดังกล่าวได้ทำลายอาคารคอนกรีตและลามเป็นเหตุไฟไหม้สถานที่จัดงานซึ่งมีผู้มาร่วมงานหลายพันคน

ในปี 2556 ศาสนิกชน 115 รายเสียชีวิตจากการเหยียบกันตายที่สะพานใกล้วัดแห่งหนึ่งในรัฐมัธยประเทศ โดยสถานที่จัดงานมีผู้คนมากถึง 400,000 คนรวมตัวกันในพื้นที่ และความแตกตื่นเริ่มขึ้นหลังมีข่าวลือแพร่สะพัดว่าสะพานกำลังจะถล่ม

ในปี 2551 มีผู้แสวงบุญเสียชีวิต 224 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 400 คนจากการเหยียบกันตายที่วัดบนยอดเขาแห่งหนึ่งในเมืองจ๊อดปูร์ ทางตอนเหนือของอินเดีย.

เพิ่มเพื่อน