นักปฏิรูปหัวสมัยใหม่และนักอนุรักษนิยมสุดโต่งในฐานะสองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน มีสิทธิ์คว้าชัยพอๆกัน หลังการเลือกตั้งที่คะแนนสูสี แต่ประชาชนออกมาลงคะแนนน้อยมาก
วัยรุ่นชาวอิหร่านลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอิสลาม ที่หน่วยเลือกตั้งในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยมีรูปของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านอยู่ด้านหลัง (Photo by RAHEB HOMAVANDI / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ประชาชนชาวอิหร่านออกมาลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ภายหลังสูญเสียเอบราฮิม ไรซีจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนที่แล้ว
หน่วยงานการเลือกตั้งของอิหร่านรายงานการนับคะแนนล่าสุดว่า มาซูด ปีเซชเคียน นักปฏิรูปหัวสมัยใหม่ ได้รับคะแนนเสียงประมาณ 42.4% และซาอีด จาลีลี อดีตผู้เจรจาต่อรองด้านนิวเคลียร์สายอนุรักษนิยม ได้รับคะแนนเสียงประมาณ 38.6%
ผู้สมัครที่มีคะแนนตามมาเป็นอันดับสามคือโมฮัมหมัด บาเกอร์ กาลิบัฟ ประธานรัฐสภาสายอนุรักษนิยม ด้วยคะแนนเสียงประมาณ 13.8% และลำดับที่สี่คือมอสตาฟา ปูร์โมฮัมมาดี นักบวชสายอนุรักษนิยม ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 1%
หากแนวโน้มปัจจุบันดำเนินต่อไป ผู้สมัครสองคนที่ได้คะแนนสูงสุดจะต้องเข้าสู่รอบคัดเลือกสุดท้ายในวันที่ 5 กรกฎาคม เพราะไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเกินกว่า 50% ในรอบแรก
ชาวอิหร่านราว 61 ล้านคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่เดิมกำหนดจัดในปี 2568 แต่จำเป็นต้องเลื่อนเร็วขึ้นเพราะอุบัติเหตุที่เกิดกับไรซี และตัวเลขผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเพียงไม่ถึง 41% ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน แถมยังมีบัตรเสียอีกมากกว่า 1 ล้านใบอีกด้วย
ก่อนหน้านี้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 6 คน แต่ก่อนหน้าลงคะแนนหนึ่งวัน อลิเรซา ซาคานี นายกเทศมนตรีกรุงเตหะราน และรองประธานาธิบดีอามีร์-ฮอสเซน กาซิซาเดห์-ฮาเชมี ได้ถอนตัวออกจากการแข่งขัน
การลงคะแนนเสียงเมื่อวันศุกร์เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามฉนวนกาซา, ข้อพิพาทกับชาติตะวันตกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และความไม่พอใจภายในประเทศเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรของอิหร่าน
ทั้งนี้ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียง แต่กลุ่มฝ่ายค้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้พลัดถิ่น ต่างเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีกลิ่นอายของความไม่น่าเชื่อถือ
มาซูด ปีเซชเคียนวัย 69 ปี เป็นศัลยแพทย์หัวใจและสมาชิกรัฐสภาจากเมืองทาบริซทางตอนเหนือ มาตั้งแต่ปี 2551
เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในสมัยประธานาธิบดีโมฮัมหมัด คาตามี นักปฏิรูปคนสุดท้ายของอิหร่านซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2540-2548
ปีเซชเคียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของไรซีในเรื่องความโปร่งใส ระหว่างการประท้วงทั่วประเทศจากกรณีการเสียชีวิตของมาห์ซา อามินี และเขาได้รณรงค์ให้อิหร่านสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรป เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยว
ขณะที่ซาอีด จาลีลีซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง ยังคงแสดงจุดยืนอย่างแน่วแน่ในการต่อต้านตะวันตก
ชายวัย 58 ปีรายนี้ดำรงตำแหน่งอาวุโสหลายตำแหน่งในสาธารณรัฐอิสลาม รวมถึงในสำนักงานของคาเมเนอีในช่วงต้นทศวรรษใหม่
ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในตัวแทนของคาเมเนอีในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงสูงสุดของอิหร่าน
ทั้งนี้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ประธานาธิบดีคนต่อไปของอิหร่านจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายรัฐตามที่ผู้นำสูงสุดกำหนดไว้เท่านั้น.