จีนวางแผน 'ปฏิรูปครั้งใหญ่' ก่อนการประชุมทางการเมืองครั้งสำคัญ

พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งบริหารการปกครองประเทศจีน กำลังวางแผนดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ ก่อนการประชุมทางการเมืองที่หลายฝ่ายจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าเล็งผลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่หอประชุมใหญ่ของมหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง (Photo by NOEL CELIS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เปิดเผยด้วยตัวเองว่าพรรคคอมมิวนิสต์กำลังวางแผนดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ ก่อนการประชุมสมัชชาพรรคฯ

บรรดาผู้กำหนดนโยบายของจีนพยายามดิ้นรนเพื่อจุดประกายการเติบโตของประเทศอีกครั้ง นับตั้งแต่สิ้นสุดมาตรการโควิด-19 อันเข้มงวดในปลายปี 2565

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้ถูกรุมเร้าด้วยวิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์, การบริโภคที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และอัตราการว่างงานสูงของคนรุ่นใหม่

สีกล่าวในคำปราศรัยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายกำลังวางแผนดำเนินมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปอย่างลึกซึ้งในลักษณะที่ครอบคลุม

"เราจะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาด, ปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์ และมุ่งสู่ต่างประเทศมากขึ้น" เขากล่าว และเสริมว่า "ประตูของจีนจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ และจะไม่มีวันปิด"

สีได้กล่าวถึงคำมั่นสัญญาที่จะปฏิรูปใหญ่หลายครั้งในปีนี้ และรัฐบาลได้ออกมาตรการในภาคส่วนสำคัญๆบ้างแล้ว เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์

มีการประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่าการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

การประชุมครั้งสำคัญของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ได้รับการคาดหวังอย่างมากว่าจะสามารถแก้ไขความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนได้

ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการทางการเงินที่รัฐบาลประกาศใช้ และผลักดันการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างมั่นคงและแข็งแรง

ในส่วนหนึ่งของการปราศรัย ณ มหาศาลาประชาชนอันหรูหราในกรุงปักกิ่ง สียกย่องจีนว่าเป็นพลังแห่งสันติภาพโลก และรัฐบาลปักกิ่งจะดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ฉนวนกาซา และยูเครน

จีนถูกหลายชาติวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ยอมประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่รัฐบาลมอสโก แม้รัฐบาลปักกิ่งยืนยันความเป็นกลางมาตลอด

ส่วนปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ จีนก็ได้สนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาแบบสองรัฐมานานหลายทศวรรษแล้ว.

เพิ่มเพื่อน