ซูนัค-สตาร์เมอร์ ปะทะดีเบตทางทีวีรอบสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งอังกฤษ

ชายสองคนที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเผชิญหน้ากันช่วงดึกของวันพุธ ในการดีเบตทางทีวีแบบตัวต่อตัวครั้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศในสัปดาห์หน้า

ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (ขวา) และเคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคแรงงาน ร่วมการอภิปรายสดทางโทรทัศน์ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวบีบีซี BBC ในเมืองนอตติงแฮม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันที่ 4 กรกฎาคม (Photo by Phil Noble / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ริชี ซูนัค ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม และเคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคแรงงาน ร่วมดีเบตอย่างดุเดือดผ่านทางโทรทัศน์ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในสัปดาห์หน้า

กระแสนิยมในตัวสตาร์เมอร์กำลังพุ่งสูง สวนทางกับซูนัคที่นำพรรครัฐบาลเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เห็นได้จากผลการเลือกตั้งซ่อมและการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤษภาคม ที่พรรครัฐบาลสูญเสียที่นั่งในรัฐสภา จนนำมาซึ่งการประกาศเลือกตั้งใหม่วันที่ 4 กรกฎาคม

ซูนัคประกาศยุบสภาเพื่อล้างไพ่ทางการเมืองและหวังให้การทำงานในช่วงสุดท้ายเป็นโอกาสอันดีในการกอบกู้ภาพลักษณ์ของพรรคอนุรักษนิยมที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ

การเลือกตั้งทั่วไปในอีก 8 วันข้างหน้าจะเป็นครั้งแรกที่ซูนัควัย 44 ปี ได้ลงชิงชัยในสนามด้วยตัวเองในฐานะหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม หลังจากเขาขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศด้วยการแต่งตั้งของพรรคฯในเดือนตุลาคม 2565

ในการดีเบตครั้งสุดท้ายของผู้นำจากสองฝั่งการเมือง ซูนัคกล่าวหาว่าสตาร์เมอร์ไม่มีความรู้มากพอจากการประกาศนโยบายลดการอพยพเข้าเมือง ขณะที่ซูนัคโดนถองกลับว่าหูหนวกตาบอดที่ไม่เห็นปัญหาและไม่ฟังเสียงประชาชนในประเทศ

ซูนัคเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่ายอมจำนนต่อนโยบาบของพรรคแรงงานในทุกเรื่อง ตั้งแต่ปัญหาพรมแดนไปจนถึงการจัดเก็บภาษี ในขณะที่สตาร์เมอร์ย้ำคติของเขาที่ว่าการเลือกตั้งเป็นโอกาสในการพลิกโฉมประเทศ หลังจมอยู่กับรัฐบาลอนุรักษนิยมมานาน 14 ปี

สตาร์เมอร์ให้คำมั่นที่จะรีเซ็ตการเมืองให้กลับมาเป็นวิถีสาธารณะของประชาชนมากกว่ายึดติดกับกลไกการปกครอง และชี้ว่าซูนัคขาดความเป็นผู้นำ เพราะมีบุคลิกขี้โมโห

เมื่อซูนัคได้ยินดังนั้น เขากล่าวโต้ด้วยอาการเกรี้ยวกราดว่า ผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎ ต้องเผชิญกับผลที่ตามมาด้านกฎหมายและจะถูกไล่ออกจากพรรคอนุรักษนิยม ตามที่เขาเคยได้ให้สัญญาตอนเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆว่าจะฟื้นฟูความซื่อสัตย์, ความเป็นมืออาชีพ และความรับผิดชอบของส.ส.ในพรรคที่ทำให้เกิดความอื้อฉาวสมัยการบริหารของบอริส จอห์นสัน

พรรคแรงงานเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากชาวอังกฤษดูเบื่อหน่ายการปกครองของส.ส. ซึ่งถูกครอบงำด้วยความเข้มงวด, เบร็กซิต และการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลอนุรักษนิยม

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเป็นตัวเต็งครั้งแรกในรอบ 14 ปี อาจไม่ส่งผลให้พรรคแรงงานได้คะแนนถล่มทลายจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้แบบอนุรักษนิยม และการย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าประเทศ รวมถึงนโยบายต่างๆ อาจขึ้นอยู่กับจำนวนส.ส. ในรัฐสภาเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่จะร่วมจับมือเป็นพันธมิตร.

เพิ่มเพื่อน